HOW TO เลิกเต้า เลิกยังไง วัยไหนต้องเลิก

คำถามว่าวัยไหนเหมาะสมที่จะเลิกเต้าหย่านมแม่
แบ่งเป็นสองกรณีค่ะ
คือถ้าเป็นคุณแม่ WORKING MOM การเลิกเต้าอาจเกิดขึ้นเร็วตั้งแต่ก่อนขวบปีแรกเพื่อปั๊มนมแล้วให้ลูกดูดจากขวดในเวลาที่แม่ทำงาน
อีกกรณี คือคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเต็มเวลา การเลิกเต้าจะเกิดขึ้นเมื่อลุกอายุขวบนิดๆ ถึงสามขวบ เป็นวัยที่เด็กทานอาหารอื่นแล้ว ประกอบกับเริ่มวิ่งเล่นซน การดูดนมแม่เป็นเพียงดูดเพื่อรู้สึกอบอุ่นใจมากกว่าการดูดให้อิ่ม อย่างไรก็ตามนมแม่เป็นอาหารที่มีคุณค่าที่สุดที่จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับลูกน้อย คุณแม่จึงสามารถปั๊มนมแม่ใส่ขวดให้ลูกทานต่อไปได้อีกนิด
สัญญาณที่บอกว่าลูกพร้อมหย่านมแล้ว
1 ห่วงเล่นจนลืมเข้าเต้า
2 ใช้เวลากับเต้าน้อยลงแต่ดูดถี่ขึ้น แสดงว่าดูเพียงเพราะเหงาปากหรือเพื่อความสบายใจ
3 ระหว่างที่เข้าเต้าหากวอกแวกง่าย ดูดแป๊บๆ ก็หันไปสนใจสิ่งอื่น
4 เริ่มกัดหรือดึงหัวนมเล่น คาบไว้เฉยๆ ไม่ดูด
5 เข้าเต้าเพราะง่วง ไม่ใช่เพราะหิว
วิธีหย่านมแบบละมุนละม่อม
1 ลดเวลาการให้นมจากเต้าให้สั้นลง โดยให้ลูกดูดนมจากเต้าก่อนในช่วงแรก หลังจากนั้นให้ลูกดูดนมแม่หรือนมผสมจากขวดต่อ จนกว่าจะอิ่ม วิธีนี้จะทำให้ลูกไม่รู้สึกต่อต้านว่านมขวดจะมาแทนที่นมจากเต้า เพียงแต่นมขวดจะทำให้อิ่มท้อง และจะทำให้ลูกคุ้นเคยกับขวดอีกด้วย
2 เมื่อลูกเริ่มคุ้นชินกับการดูดนมจากขวด และเริ่มคุ้นชินกับรสชาตินมผสมหรือนมแม่ที่แช่เก็บไว้แล้ว ให้ค่อย ๆ งดการทานจากเต้าเป็นมื้อ ๆ ไป โดยเริ่มงดการทานนมจากเต้าเพียงมื้อเดียวก่อน และค่อย ๆ งดเพิ่มเป็น 2 มื้อ 3 มื้อ จนครบทุกมื้อ แนะนำว่าไม่ควรงดมื้อแรกของวันก่อน
3 หากลูกยังไม่สามารถงดการดูดเต้า 2 มื้อติดกันได้ ให้ใช้วิธีให้นมจากขวดสลับไปก่อน โดยสลับดูดนมแม่พร้อมนมขวด 1 มื้อ และดูดนมขวดล้วน 1 มื้อ ทำอย่างนี้ติดต่อกัน 1 อาทิตย์ หากมีท่าทีที่ดีขึ้นค่อยเริ่มกลับมางดการดูดเต้า 2 มื้อติดอีกครั้ง
4 เพราะลูกอาจได้กลิ่นน้ำนมจากคุณแม่ ดังนั้น คุณแม่ควรปล่อยให้คุณพ่อ คุณยาย หรือพี่เลี้ยงเด็กทำหน้าที่หย่านมแทน คุณแม่ควรหลบไปอยู่อีกห้อง เพื่อให้ลูกเห็นว่าไม่สามารถดูดนมจากเต้าได้แน่นอนแล้ว ลูกก็จะยอมทานนมที่คุณพ่อ คุณยาย หรือผู้ที่ช่วยเลี้ยงดูยื่นให้
5 ในการหย่านมจากเต้ามื้อดึก หากลูกตื่นขึ้นมาควรกอดลูกไว้ แล้วอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าดูดนมแม่ตอนกลางคืนไม่ได้ หรือจะให้คุณพ่อหรือคนที่ลูกคุ้นเคยเป็นคนกล่อมลูกให้หลับต่อแทนก็ได้ค่ะ เพราะวิธีนี้จะทำให้ลูกยังรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยจากการกอดแทนการดูดนมแม่นั่นเองค่ะ
6 ในช่วงแรก ๆ หากลูกต่อต้าน ไม่ยอมทานนมจากขวด คุณแม่ไม่ควรดุด่าว่ากล่าวลูก หรือบังคับให้ลูกทานนมจากขวดให้ได้ เพราะจะทำให้ลูกต่อต้านมากขึ้น พาลจะไม่ยอมทานนมจากขวดไปเลย คุณแม่จึงควรเว้นการหย่านมไปสักพักหนึ่งก่อนแล้วค่อยเริ่มใหม่
7 กอดลูกบ่อย ๆ ในช่วงที่หย่านมแม่นั้น ลูกจะรู้สึกขาดความรักและความอบอุ่น การแสดงให้ลูกเห็นว่าความรักความอบอุ่นนั้น สามารถทำได้โดยวิธีอื่น เช่น การกอด การใช้เวลาร่วมกันในเรื่องอื่น ๆ การเล่นด้วยกัน ก็จะได้รับความอบอุ่นจากแม่ได้เช่นกัน
8 ดึงดูดความสนใจด้วยวิธีอื่น เมื่อลูกร้องจะดูดนมแม่ เช่น พาลูกไปเดินเล่นนอกบ้าน เล่นของเล่นที่ลูกชอบ เป็นต้น
9 ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการเลือกซื้อนม และอุปกรณ์การทานนม ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยจูงใจให้ลูกอยากดื่มนมจะอุปกรณ์อื่นนอกเหนือจากเต้า
10 เมื่อลูกยอมดูดนมจากขวดหรือแก้ว หรือสามารถตักอาหารกินเองได้ คุณแม่ควรเอ่ยคำชมและให้กำลังใจลูก เพื่อให้ลูกรู้สึกดีที่ทำแบบนี้
อย่างไรเสียนมแม่คือสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดนะคะ มีสารอาหารมากมายในนมแม่ ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องภูมิคุ้มกันนมแม่มีประโยชน์มากจริงๆ เด็กจะแข็งแรงสู้โรคต่างๆ ได้ดี โดยเฉพาะยุคนี้ทั้ง RSV หวัดใหญ่ และอะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด ลูกดื่มนมแม่ให้นานที่สุดเป็นเรื่องดีค่ะ แม้จะเจอปัญหาน้ำนมน้อย ก็อยากให้คุณแม่พยายามนะคะอย่ายอมแพ้ง่ายๆ เพื่อลูกที่รักของเราค่ะ