ลูกยังตัวเล็กอยู่เลย เล่นอะไรกับลูกได้บ้างน้า
คุณแม่เคยสงสัยไหมคะ ลูกเพิ่งเกิดได้ไม่นาน คอยังไม่แข็งเลย เราเล่นกับลูกได้ไหม
คุณแม่หลายท่านอาจจะมีคำถามว่า เราจะเริ่มเล่นกับลูกได้เมื่อไหร่ จริงๆ แล้วเราสามารถเล่นกับลูกได้ตั้งแต่แรกเกิดเลย แต่วิธีการเล่นกับลูกอาจจะเปลี่ยนไปตามช่วงอายุของลูก
สังเกตได้ว่า ลูกของเราเมื่อแรกเกิด จะนอนเป็นส่วนใหญ่ ตื่นมากินนมทุก 2-3 ชั่วโมง แล้วหลับต่อ แต่สังเกตไหมคะว่า หลังลูกกินนมเสร็จ บางครั้งลูกยังไม่หลับเลย ตายังแป๋วอยู่เลย ตอนนั้นค่ะ เป็นโอกาสทองของคุณแม่ที่เล่นกับลูก
ถ้าอย่างนั้นเราเริ่มเล่นอะไรกับลูกดีน้า
นอกจากเล่านิทานให้ลูกฟัง แล้วเล่นอะไรได้อีกบ้างน้า
คุณแม่หลายท่านอาจเลือกเปิด YouTube ให้ลูกดู ABC เพราะลูกจะได้ให้ลูกคุ้นเคยกับตัวอักษรภาษาอังกฤษตั้งแต่ยังเล็ก แต่คุณแม่รู้ไหมคะ สมาคมกุมารแพทย์แห่งอเมริกา (AAP) หรือ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาบอกว่า เด็กแรกเกิดจนถึง 2 ปี ไม่ควรให้ดูสื่อจอใส (โทรศัพท์ iPad หรือ แม้กระทั่งโทรทัศน์) เลย มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่า เด็กที่ดูสื่อจอใสก่อนอายุ 2 ปี มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมแสดงออกที่ไม่เหมาะสม หรือมีพัฒนาการด้านสติปัญญาและสังคมที่ไม่สมวัย ถ้าคุณแม่ไม่อยากเสี่ยงให้ลูกมีพัฒนาการที่ไม่สมวัย คุณแม่ลองหาวิธีเล่นกับลูกวิธีอื่นดีไหมคะ
ถ้าอย่างนั้น ทำไมเล่นจ๊ะเอ๋ยังไม่ได้ล่ะ การเล่นจ๊ะเอ๋ อาจจะยังไม่เหมาะกับลูกที่ยังเล็ก หรือยังจำหน้าเราไม่ได้ เด็กที่เข้าใจการเล่นจ๊ะเอ๋ จะเป็นเด็กที่เริ่มมีความคิดที่ซับซ้อนขึ้น เข้าใจแล้วว่า วัตถุที่มีตรงนี้ หายไป และลองมองหาว่า แล้วจะอยู่ที่ไหนได้บ้าง ส่วนใหญ่เริ่มเล่นเมื่อเด็กอายุประมาณ 9 เดือนขึ้นไป
แล้วเล่นนวดตัวเล่นยังไงน้า การเล่นนวดตัว ไม่ได้มีกติกาที่ซับซ้อนเลยค่ะ เพียงแค่สัมผัสร่างกายเค้าด้วยเค้าอ่อนโยน นุ่มนวล ทำให้เค้ารู้สึกผ่อนคลาย การนวดลูก สามารถนวดได้ทุกส่วนในร่างกาย แค่เบามือ แต่คุณแม่จะสังเกตได้เองนะคะ บางจุดในร่างกายเค้า พอเบามือ เค้าอาจจะบิดตัวหนี เราอาจเรียกได้ว่า เค้าจักกะจี้ เพราะฉะนั้นรักแร้ ขา คุณแม่อาจลงน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้นิดหน่อย ส่วนตรงท้อง ถ้าคุณแม่จะนวดต้องไม่นวดหลังจากที่น้องอิ่มนมนะคะ อาจจะเป็นหลังจากอาบน้ำเสร็จ แต่ที่สำคัญเลยค่ะ การสบตา พูดคุยกับลูก ขณะที่นวดยังต้องทำอยู่นะคะ คราวนี้เค้าจะเพลินเลยค่ะ มีคนนวดให้สบายตัว แถมได้ยินเสียงคุ้นเคยอยู่ข้างๆด้วย
เห็นไหมคะ การเล่นกับลูกเล็กๆ ทำได้ตั้งหลายแบบ แต่สังเกตไหมคะ ตัวคุณแม่เป็นของเล่นชิ้นสำคัญเลยค่ะ ความรัก ความอบอุ่นจากคุณแม่ เป็นของเล่นชิ้นที่พิเศษที่สุด อย่าพลาดเวลาที่ได้เล่นกับเค้านะคะ
สำหรับคุณแม่ที่มีลูกโตกว่านี้ จะเล่นอะไรได้อีกบ้างน้า ติดตามตอนต่อไปนะคะ
รศ.ดร.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์ (อ.ส้ม)