ภัยน้ำท่วมมาแล้ว! ดูแลลูกอย่างไรดี? ให้ปลอดโรคและปลอดภัย
หลายจังหวัดในประเทศไทยประสบกับอุทกภัยร้ายแรง ฝนตก น้ำท่วม คุณพ่อคุณแม่หลายๆ บ้านคงมีความกังวลใจว่าจะดูแลลูกน้อยอย่างไรดี? ให้ปลอดภัยจากโรค เพราะเด็กวัยเรียนก็ยังต้องเดินทางไปโรงเรียน ดังนั้นเรามาเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสิ่งเหล่านี้ และสอนให้ลูกน้อยดูแลตัวเองให้ปลอดโรคกันดีกว่าค่ะ
โรคที่พบได้บ่อย และวิธีป้องกันลูกน้อยให้ปลอดโรคจากน้ำท่วม
1. โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา
เกิดจากการย่ำน้ำ หรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรคหรือเท้าอับชื้นอยู่เป็นเวลานาน
อาการ : เริ่มด้วยตุ่มใสบริเวณง่ามเท้า คันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย มีอาการคันมากจนแตกเป็นแผล
ป้องกัน : ล้างเท้าให้สะอาด เช็ดให้แห้ง รักษาได้โดยใช้ยาทารักษาเชื้อรา แต่ถ้ามีอาการรุนแรงและเรื้อรัง ทายาไม่ได้ผล อาจต้องไปปรึกษาแพทย์
2. โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร หรือโรคอุจจาระร่วง
เกิดจากเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารค้างคืนหรือเน่าบูด ติดต่อจากการสัมผัสอุจจาระ หรืออาเจียนของผู้ป่วยซึ่งแพร่กระจายอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม โดยมีแมลงวันเป็นพาหะนำโรค
อาการ : มีไข้ ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำวันละหลายครั้ง ถ่ายอุจจาระมีมูก หรือเลือดปน คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งในเด็กจะพบว่ามีอาการรุนแรง และเสี่ยงต่อการมีภาวะขาดน้ำ
ป้องกัน : ดื่มและใช้น้ำที่สะอาด ควรระวังอย่าให้น้ำที่ท่วมขังอยู่เข้าปาก และไม่ควรนำเหล่านั้นมาล้างภาชนะ ถ้วยชาม หรือผักผลไม้ อีกทั้งยังต้องล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ ไม่ถ่ายลงในน้ำ เก็บภาชนะที่ใส่อาหารให้มิดชิด ไม่ให้มีแมลงวันตอม
3. โรคตาแดง
ส่วนใหญ่เกิดได้ทั้งจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส มักจะติดต่อด้วยการสัมผัสจากมือ ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าเช็ดตัว
อาการ : หลังได้รับเชื้อประมาณ 1 – 2 วัน จะมีอาการระคายเคือง ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง
ป้องกัน : ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ เมื่อน้ำสกปรกเข้าตาลูก คุณพ่อคุณแม่ควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาด และถ้าลูกมีอาการปวดตา หรือมองแสงไม่ได้ควรรีบพาไปปรึกษาแพทย์
4. โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis)
ส่วนมากพบในผู้ใหญ่ แต่ก็สามารถเกิดในเด็กได้ด้วยนะคะ โดยเฉพาะในช่วงน้ำท่วม โรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อมาจากสัตว์ เชื้อโรคจะอยู่ในปัสสาวะของสัตว์ เช่น หนู โค กระบือ ตลอดไปจนถึงสัตว์เลี้ยงในบ้านอย่างสุนัขหรือแมว คนจะสามารถรับเชื้อเข้าไปทางบาดแผล หรือผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานานๆ รวมถึงเยื่อเมือกอย่างตาและปากอีกด้วย
อาการ : มีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ และศีรษะมาก บางคนจะมีอาการตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม และท้องเดินร่วมด้วย จำเป็นต้องรีบพบแพทย์ เนื่องจากทำให้มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเสียชีวิตได้
ป้องกัน : ถ้ามีแผลในบริเวณที่สัมผัสกับน้ำได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงการเดินหรือเล่นน้ำในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ถ้าเป็นไปได้ควรใส่รองเท้าบูททุกครั้งเมื่อเดินลุยน้ำ
5. โรคหัด
พบบ่อยในเด็กเล็ก เกิดจากเชื้อไวรัส มักพบในช่วงฤดูฝน เป็นโรคที่อาจมีโรคแทรกซ้อนทําให้เสียชีวิตได้ ติดต่อกันได้ง่ายมากโดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด ระยะติดต่อ 2-4 วันก่อนเกิดผื่น และหลังเกิดผื่นแล้ว 2-5 วัน เชื้อกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ํามูก น้ําลายของผู้ป่วย และเข้าสู่ร่างกาย ทางการหายใจ
อาการ : หลังได้รับเชื้อประมาณ 8-12 วัน จะเริ่มมีอาการไข้น้ํามูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ พบจุดขาวๆ เล็กๆ ขอบแดง ในกระพุ้งแก้ม ช่วง 1-2 วันแรกไข้จะสูงขึ้น และจะสูงเต็มที่ในวันที่ 4 เมื่อ มีผื่นขึ้น ผื่นมีลักษณะนูนแดง ติดกันเป็นปื้นๆ โดยจะขึ้นที่ใบหน้า บริเวณชิดขอบผม แล้วแพร่กระจายไปตามลําตัว แขน และขา
ป้องกัน : ให้รักษาตามอาการ ถ้าไข้สูงมากควรให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราว ร่วมกับการเช็ดตัว ไม่จําเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นกรณีที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ หูอักเสบ เป็นต้น แยกผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นหัด รับประทานอาหารอ่อนที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน ถ้ามีผื่นออกแล้วยังมีไข้สูง หรือมีไข้ลดลงสลับกับไข้สูง ไอมาก หรือหอบ ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที
ป้องกันลูกน้อยให้ปลอดภัยจากน้ำท่วม
1. ระวังไฟดูด
ปัญหาลูกถูกไฟดูดเป็นปัญหาหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงน้ำท่วม คุณพ่อคุณแม่จึงควร
- สอนให้เด็กรู้ถึงอันตรายของไฟฟ้า
- ควรใช้ที่ครอบปลั๊กไฟเพื่อป้องกันเด็กใช้นิ้วมือแหย่
- ควรวางเครื่องใช้ไฟฟ้าให้พ้นมือเด็ก
- หากน้ำท่วมเข้ามาในบ้าน ควรตัดไฟทันที
- ไม่แตะเครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียก หรือยืนบนพื้นเปียก
2. สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งก่อนลุยน้ำ
ไม่ควรปล่อยให้ลูกลงเล่นน้ำ หรืออยู่ในบริเวณที่พลัดตกน้ำได้ หากต้องลุยน้ำ หรือโดยสารทางเรือ ต้องใส่เสื้อชูชีพให้เด็กทุกครั้งไม่ว่าน้ำจะลึกหรือตื้น และเลือกขนาดเสื้อให้เหมาะกับสำหรับตัวเด็ก
3. ระวังสัตว์อันตราย
เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่ากลัว และต้องระวัง เพราะสัตว์อันตรายเหล่านี้อาจหลุดรอดมากับน้ำท่วมได้ด้วย เช่น ตะขาบ งู แมงป่อง หนู ปลิง พยาธิ จระเข้
การป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางน้ำ และการป้องกันโรคเหล่านี้เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการแก้ไข หรือรักษานะคะ เพราะฉะนั้น อย่าลืมใส่ใจความปลอดภัย และสุขภาพอนามัยของลูกน้อยในช่วงน้ำท่วมด้วยนะคะแม่ๆ