ฟันพุ: 5 วิธีป้องกัน โรคฟันผุจากขวดนมเมื่อลูกติดขวดนมก่อนนอน
คุณแม่หลายท่านอาจประสบปัญหาลูกมักจะหลับไปพร้อมกับขวดนม ซึ่งการติดขวดนมตอนกลางคืนของเจ้าตัวน้อย อาจนำไปสู่โรคฟันผุจากขวดนม และส่งผลกระทบ ให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ดังนั้น เรามาหาวิธีป้องกันเจ้าตัวน้อยจาก โรคฟันผุจากขวดนม กันดีกว่าค่ะ
โรคฟันผุจากขวดนม เกิดจากอะไร?
โรคฟันผุจากขวดนม (Baby Bottle Tooth Decay: BBTD) เกิดจากน้ำตาลในนมที่ค้างอยู่ในช่องปากเป็นเวลานานถูกย่อยด้วยจุลินทรีย์ในช่องปากและเกิดเป็นกรด ซึ่งสามารถทำลายแคลเซียมในฟัน และนำไปสู่ปัญหาฟันผุในเด็ก
ปัญหาฟันผุจากขวดนมตอนกลางคืนไม่ค่อยพบในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เนื่องจากฟันยังขึ้นเพียงไม่กี่ซี่ (เด็กอายุ 6-12 เดือนมีฟันประมาณ 8 ซี่ เป็นฟันหน้าด้านบนและล่างอย่างละ 4 ซี่ จึงง่ายต่อการทำความสะอาด)
ปัญหาฟันผุจากขวดนมส่วนใหญ่เกิดกับเด็กวัยเตาะแตะอายุระหว่าง 1-2 ปีที่ไม่ยอมเลิกขวดนมตอนกลางคืน นอกจากนี้ยังเป็นวัยที่คุณแม่ต้องเพิ่มความระมัดระวังเกี่ยวกับสุขภาพฟัน ซึ่งในวัยนี้เจ้าตัวน้อยจะมีฟันประมาณ 18 ซี่แล้วและฟันน้ำนมจะขึ้นครบทั้ง 20 ซี่เมื่ออายุประมาณ 33 เดือน
สาเหตุที่ลูกติดขวดนม
อาจเป็นเพราะลูกรู้สึกมีความสุขหรือสบายใจเมื่อได้ดูดนมจากขวด หรืออาจเป็นเพราะลูกยังไม่มีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง หรืออาจเคยชินกับขวดนมมากจนเกินไปคุณพ่อคุณแม่ใจไม่แข็งพอ เมื่อพยายามฝึกเลิกขวดนมไม่สำเร็จก็ยอมให้ลูกกลับไปดูดขวดนมอีก ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความสับสน และยิ่งทำให้ลูกเลิกขวดนมยากขึ้นอีกไม่ได้ฝึกลูกเลิกขวดนมในจังหวะเวลาที่เหมาะสม หากปล่อยให้ลูกดูดขวดนมเกินกว่าอายุ 18 เดือนแนวโน้มที่ลูกจะติดขวดนมย่อมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเลิกขวดนมของลูกในอนาคต
ผลเสียของการปล่อยให้ลูกติดขวดนม
ปัญหาเด็กติดขวดนมอาจเป็นต้นเหตุของ "โรคฟันผุ" ที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กเล็ก โดยเฉพาะในเด็กที่ไม่สามารถเข้านอนในเวลากลางคืนได้โดยไม่มีขวดนม ทั้งนี้ การที่เด็กดูดนมจากขวดในเวลากลางคืนทำให้มีน้ำนมค้างอยู่ในช่องปากเป็นเวลานาน น้ำตาลในนมจะกลายเป็นกรดที่ทำลายผิวฟันจนเกิดฟัน
โรคฟันผุจากขวดนม เป็นปัญหาฟันผุชนิดรุนแรงในเด็กปฐมวัย มักเกิดบริเวณด้านหลังของฟันหน้า และฟันกรามล่าง ซึ่งเป็นฟันส่วนที่สัมผัสจุกนมมากที่สุด รวมถึงเป็นส่วนที่น้ำนมติดค้างอยู่มากที่สุดหากปล่อยให้ลูกฟันผุจนถึงขั้นต้องถอนฟัน อาจเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ เช่น ปัญหาในการเคี้ยว และกลืนอาหาร ปัญหาการพูด รวมถึงส่งผลกระทบต่อการงอกของฟันแท้ เช่น ฟันแท้อาจไม่ขึ้น หรือเกิดปัญหาฟันคุด และอาจทำให้ฟันแท้เรียงตัวไม่สวยงามอีกด้วย
นอกจากนี้จุกนมจะมีผลทำให้ฟันหน้าบนยื่น ฟันล่างหลุบเข้าไปในปาก ในบางคนอาจมีฟันหน้าไม่สบกัน ซึ่งจะมีผลต่อใบหน้าและบุคลิกภาพไม่สวยงาม ทำให้ระบบการบดเคี้ยวไม่ดี และระบบย่อยอาหารก็ไม่ดีเช่นกัน
กุมารแพทย์ส่วนใหญ่แนะนำว่า พ่อแม่ควรให้ลูกเลิกขวดนมได้ตั้งแต่ในช่วงอายุ 6 เดือน และให้เลิกได้อย่างเด็ดขาดภายในอายุ 2 ขวบ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดกับลูก สำหรับเด็กที่ยังไม่พร้อมเลิกขวดนม
คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้การเลิกขวดนมของลูกประสบความสำเร็จได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
1. ค่อยๆ เพิ่มปริมาณน้ำเมื่อชงนมผง
เพื่อเจือจางน้ำตาลในนม อาจใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้แต่ขวดน้ำเปล่าโดยไม่ต้องใส่นม แต่หากคุณแม่สังเกตว่าเจ้าตัวน้อยนอนหลับไม่สนิท เพราะหิวจนต้องตื่นขึ้นมากลางดึก ก็ควรให้นมเจ้าตัวน้อยตามเดิม เพื่อให้เขาอิ่มท้องและหลับสนิทตลอดคืน
2. ไม่ปล่อยให้ลูกหลับไปพร้อมกับขวดนม
หลังจากที่คุณให้ลูกดูดนมจากขวดตามปกติ ควรให้ลูกดูดน้ำตาม หรือหลับไปพร้อมกับขวดน้ำแทน โดยน้ำจะช่วยชะล้างคราบนมที่ติดในปากได้
3. ทำความสะอาดฟัน และเหงือกของลูก
หลังจากดูดนมจากขวดก่อนนอนแล้ว คุณแม่ควรใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำพันที่นิ้ว เช็ดฟันและเหงือกบริเวณที่ฟันยังไม่ขึ้นให้ลูกทุกคืน เพื่อเช็ดคราบนมออกจากฟันเจ้าตัวน้อย ควรพยายามทำก่อนที่ลูกจะหลับสนิท
4. แปรงฟันให้ลูกวันละสองครั้งเช้า เย็น ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์
การแปรงฟันตอนเช้าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในเด็กที่ยังตื่นมากินนมมื้อดึก คุณแม่ควรแปรงฟันให้ลูกทันทีที่ตื่นนอนตอนเช้า เพื่อกำจัดคราบนมที่ติดอยู่ที่ฟันตลอดทั้งคืน
5. พาเจ้าตัวน้อยไปตรวจฟันทุก 6 เดือนตั้งแต่ฟันขึ้นซี่แรก
เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลฟันให้เจ้าตัวน้อยอย่างถูกวิธี รวมถึงเคลือบฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันฟันผุด้วย ถ้าฟันชิดกันแล้วควรใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดบริเวณซอกฟันด้วยนะคะ