รู้ได้อย่างไรว่าลูกได้รับนมแม่พอไหม
คุณแม่ที่ให้ลูกดูดนมจากเต้า มักมีความกังวลเกี่ยวกับการให้นมจากเต้าได้พอกับความต้องการของลูกของเรา แม่บ่อยครั้งอาจไม่แน่ใจว่าน้ำนมในเต้ามีอยู่เท่าไหร่ จะเพียงพอต่อความต้องการของลูกหรือไม่ และลูกดูดนมไปได้เท่าไหร่ อาจมีความกังวลนี้ทำให้คุณแม่ไม่มั่นใจว่าน้ำนมเพียงพอที่จะเลี้ยงลูกหรือไม่ โดยเฉพาะกับลูกที่ดูดนมไม่นานหรือตื่นบ่อยแล้วร้องไห้ต้องให้นมบ่อยๆ ในบางครั้งคุณแม่อาจจะพิจารณาเสริมนมผสมให้กับลูก หลังจากลูกดูดนมแม่ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกได้รับนมเพียงพอแน่นอน อย่างไรก็ตาม การเสริมนมผสมอาจส่งผลให้การสร้างน้ำนมของคุณแม่ลดลง และหากให้นมขวดเร็วเกินไปอาจทำให้ลูกติดขวดและไม่ยอมดูดนมแม่ได้
การสังเกตว่าลูกดูดนมแล้วได้รับนมแม่ คุณแม่สามารถดูได้จากลักษณะเหล่านี้
- การที่เต้านมของคุณแม่ก่อนให้นมมีลักษณะตึงและหนัก หลังจากให้ลูกดูดนมแล้วเต้านมจะนิ่มลงและเบาลง แสดงว่าน้ำนมที่ค้างอยู่ในเต้าเข้าไปอยู่ในกระเพาะของลูกเรียบร้อยแล้ว
- ขณะให้นม คุณแม่รู้สึกสุขสบายและไม่เจ็บในบริเวณหัวนม ลูกดูดนมได้ดีโดยไม่หงุดหงิด นานประมาณ 10-15 นาที คุณแม่เห็นลูกมีการกลืนนมหรือได้ยินเสียงกลืนนมแสดงว่าลูกได้น้ำนมแน่นอน<br>
นมที่ลูกได้รับนั้นเพียงพอต่อความต้องการของลูกหรือไม่ คุณแม่สามารถสังเกตได้ดังนี้ค่ะ
1. จำนวนครั้งของการถ่ายปัสสาวะและอุจจาระของลูก
- ลูกควรปัสสาวะอย่างน้อย 1 ครั้งในวันแรก ปัสสาวะ 2 ครั้งในวันที่ 2 โดยตั้งแต่วันที่ 3 หลังเกิดลูกควรปัสสาวะอย่างน้อยวันละ 6-8 ครั้ง ซึ่งลักษณะปัสสาวะควรมีสีเหลืองใส
- ลูกควรถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 1 ครั้งในวันแรก ถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 2 ครั้งในวันที่ 2 และ ถ่ายอุจจาระ 3 ครั้งในวันที่ 3 หลังเกิด จากนั้นจะถ่าย 4-8 ครั้งใน 24 ชั่วโมง หรืออาจถ่ายอุจจาระทุกครั้งหลังกินนมแม่ก็เป็นได้ เพราะในนมแม่มีสารที่กระตุ้นการขับถ่ายอุจจาระ อุจจาระหลังเกิดวันแรกๆจะมีลักษณะเหนียว สีเขียวเข้ม จากนั้นสีจะค่อยๆอ่อนลง หลัง 7 วัน จะมีลักษณะนิ่ม สีเหลืองทอง<br>
2. ลักษณะอาการของลูก
หลังจากที่ลูกได้รับนมแม่อย่างเต็มที่ อิ่มและเพียงพอ จะเกิดลักษณะอาการต่อไปนี้- การปล่อยหัวนมแม่: หลังจากที่ลูกดื่มนมแม่อิ่มเต็มที่ ลูกจะปล่อยหัวนมแม่ออกเอง ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกได้รับพลังงานและอิ่มเต็มหลังจากได้ดูดน้ำนมแม่อย่างเพียงพอ
- การหลับในระยะเวลาที่ยาวขึ้น: ลูกที่ได้รับนมแม่อิ่ม ลูกจะมีความสบายและพร้อมที่จะหลับในระยะเวลาที่ยาวขึ้น ซึ่งสามารถหลับได้ประมาณ 2-3 ชั่วโมงโดยไม่งอแง หรือต้องตื่นขึ้นมารับประทานนมใหม่ระหว่างมื้อนม
3. สังเกตุจากน้ำหนักตัวของลูก
น้ำหนักของลูกที่ได้รับนมแม่อิ่่ม หลังจากที่ลูกได้รับนมแม่อย่างเต็มที่ อิ่มและเพียงพอ จะจะมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้- น้ำหนักตัวของลูกในช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังเกิดอาจมีความแปรปรวน โดยอาจมีการลดลงเล็กน้อยจากน้ำหนักตอนแรกเกิด อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านไประยะเวลาอันสั้น น้ำหนักของลูกจะเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ในช่วงเดือนแรกหลังเกิด ลูกจะมีการเพิ่มน้ำหนักประมาณ 18-30 กรัมต่อวัน ซึ่งถือเป็นอัตราเพิ่มขึ้นที่สมดุลและเหมาะสม ในระยะเวลาหนึ่งเดือน น้ำหนักของลูกสามารถเพิ่มประมาณ ½ - 1 กิโลกรัมได้
น้ำหนักของลูกที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามเกณฑ์พัฒนาการที่เหมาะสม ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าลูกได้รับสารอาหารและการดูแลที่เพียงพอ เพื่อการเจริญเติบโตที่เหมาะสมในช่วงระยะเวลาแรกของชีวิต โดยเด็กแต่ละคนอาจมีการเติบโตที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น ควรจะไม่เปรียบเทียบน้ำหนักของลูกกับลูกที่อื่น และควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องและการให้น้ำนมให้ลูกเพียงพอ
ดังนั้น หากลูกของคุณแม่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้นแล้ว คุณแม่สามารถสบายใจได้ว่าลูกได้รับน้ำนมแม่พอแน่นอน อย่างไรก็ตามในระยะเริ่มต้น 1 เดือนแรกควรให้ลูกกินนมแม่ไม่น้อยกว่าวันละ 8 ครั้งทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อช่วยให้มีการสร้างน้ำนมแม่ได้มากพอสำหรับลูก อาจเหนื่อยบ้างในช่วงแรก แต่เป็นวิธีช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมให้ลูกอย่างเพียงพอตามที่ต้องการ ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคนนะคะ
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฉันทิกา จันทร์เปีย รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะพยาบาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์คณะพยาบาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล