คนแปลกหน้า: สอนลูกปฏิเสธให้เป็น
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนเด็กเมื่อเขาเริ่มรู้ความ(ช่วงอายุ 4-5 ขวบ) ก็คือ การแยกแยะคนแปลกหน้าและคนคุ้นเคย เมื่อพวกเขาโตขึ้นเด็กๆจะได้พบเจอกับคนแปลกหน้ามากมาย และพวกเขาไม่สามารถเลือกคนที่จะเข้าหาพวกเขาด้วยเจตนาที่ดีเพียงอย่างเดียวได้ ดังนั้นการสอนให้เด็กรู้เท่าทันคน เลือกที่จะไว้ใจ รู้จักสังเกตคนและรู้จักปฏิเสธจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในปัจจุบัน การสอนให้เด็กปฏิเสธคนแปลกหน้าให้เป็น เป็นการป้องกันตัวและป้องกันปัญหาเด็กหายหรือถูกลักพาตัว เมื่อเด็กๆต้องเจอกับสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้ใจพวกเขาจะได้มีวิธีรับมืออย่างถูกต้องเหมาะสม
1. อย่าปล่อยลูกอยู่คนเดียว
อย่าทิ้งลูกให้อยู่คนเดียว การให้ลูกอยู่คนเดียวทำให้มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดกรณีเด็กหายหรือลักพาตัวได้ง่าย เนื่องจากเด็กยังไม่รู้เท่าทันคนแปลกหน้า คุณพ่อคุณแม่จึงควรจูงมือลูกไว้ใกล้ตัว ใช้สายจูงเด็ก หรือมีอุปกรณ์ติดตามตัวลูกไว้เพื่อความปลอดภัย
2. สอนลูกแยกแยะคนแปลกหน้า
คนแปลกหน้าที่มีเจตนามุ่งร้ายไม่ได้แต่งตัวมอซอหรือมีท่าทีไม่น่าไว้ใจเพียงเท่านั้น แต่รวมไปถึงคนแปลกหน้าทุกคนที่เข้าหาลูก ไม่ว่าคนคนนั้นจะหน้าตาใจดี แต่งตัวดีสะอาดสะอ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกว่า หากมีผู้ใหญ่แปลกหน้าท่าทางใจดีมาพูดคุย ขออุ้ม หรือให้ขนม ให้ตอบปฏิเสธแล้วเดินมาหาพ่อแม่ หรือหาคนที่คุ้นเคย อย่าไว้ใจหากไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย
3. สอนเรื่องบุคคลที่ไว้ใจได้
ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกดูว่าบุคคลใดที่ไว้ใจได้ เมื่อลูกเกิดพลัดหลงหรืออยู่ในสถานการณ์ที่กำลังลำบาก ให้ลูกไปขอความช่วยเหลือจากบุคคลเหล่านี้ได้ เช่น พนักงานขายสินค้า ป้าแม่บ้าน ตำรวจ รปภ. เป็นต้น
4. สอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธอย่างเข้มแข็ง
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธคนแปลกหน้าอย่างเข้มแข็งและเด็ดขาด ไม่รับของ เงิน หรือขนมใดๆ จากคนแปลกหน้า และไม่เดินตามคนแปลกหน้าไม่ว่ากรณีใดก็ตาม หากคนแปลกหน้าบอกว่าพ่อแม่ให้มารับ หรือเป็นเพื่อนของพ่อแม่ให้ยืนยันกับคนแปลกหน้าว่าจะรอพ่อแม่อยู่ที่เดิม
5. สอนลูกให้รู้จักการขอความช่วยเหลือ
เมื่อลูกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าอึดอัด ไม่สบายใจโดยที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ตรงนั้นด้วย ให้เด็กขอความช่วยเหลือด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ร้อง กรี๊ด ตะโกนว่าช่วยด้วย หรือตะโกนว่า “แม่” ดังๆ
6. ให้ลูกเก็บชื่อ เบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่ผู้ปกครองติดตัวไว้
เก็บชื่อ เบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่ผู้ปกครองติดตัวเด็กไว้ เมื่อเด็กอยู่ในสถานการณ์คับขัน หรือพลัดหลงกับพ่อแม่ให้นำกระดาษหรือข้อมูลเหล่านี้ออกมาเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยพ่อแม่จะต้องย้ำ และคอยกวดขันให้ลูกเก็บกระดาษจดรายละเอียดเหล่านี้เอาไว้ให้ดี ให้ลูกจดจำได้ว่าหากเกิดเหตุอันใดกระดาษจดข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ตรงไหน หรือคอยถามทวนข้อมูลของผู้ปกครองให้ลูกจดจำได้
7. จำลองสถานการณ์
คุณพ่อคุณแม่สามารถจำลองสถานการณ์ที่ลูกต้องเผชิญกับคนแปลกหน้า โดยการถามคำถาม หรือพูดเพื่อให้ลูกได้คิดตาม และหาวิธีการแก้ปัญหา พ่อแม่สามารถแนะนำ ร่วมกันคิดวิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์น่าอึดอัดให้ปลอดภัย
การสอนและปลูกฝังเรื่องการระวังภัยจากคนแปลกหน้าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรกดดัน และขู่ลูกสร้างความหวาดกลัวให้กับเด็ก เพราะจะทำให้เขารู้สึกเครียดและวิตกกังวล ซึ่งการสร้างความหวาดกลัวให้เด็กๆนั้นไม่เป็นผลดี การสอนเด็กๆโดยการค่อยๆสอดแทรกไปในชีวิตประจำวันจะช่วยให้เขารู้สึกผ่อนคลาย ไม่ต่อต้าน และรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พึงกระทำเพื่อความปลอดภัยของตนเอง
สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้
หากลูกหรือเด็กในครอบครัวถูกลักพาตัวหรือหายตัวไปแบบผิดปกติ สามารถแจ้งความได้ทันที ไม่ต้องรอให้ครบ 24 ชั่วโมงติดต่อศูนย์ข้อมูลคนหายได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา โทร 080-7752673 หรือที่เพจ @thaimissing หรือที่เว็บไซต์ http://www.backtohome.org/