เช็คอาการโคลิคของลูกน้อย (BABY COLIC)
เมื่อลูกร้องไห้เป็นเวลานานทำอย่างไรดี? "อาการโคลิค" หรือเปล่า แล้วมันคืออะไรล่ะ
อาการโคลิค คืออะไร?
อาการโคลิค คือ อาการร้องไห้อย่างหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ ลูกจะร้องไห้กระวนกระวาย (ไม่ยอมหยุดดิ้น) และผายลมควบคู่กัน มักร้องไห้ในช่วงเวลาเดิมๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะเวลาเย็นหรือค่ำ โดยร้องยาวนานกว่าปกติ จากข้อมูลทางสถิติพบว่า 10-20% ของทารกที่มีอายุระหว่าง 2 สัปดาห์ถึง 3-4 เดือน ซึ่งทั้งในกลุ่มทารกที่กินนมแม่และทารกที่ได้รับนมผงดัดแปลงมีอาการโคลิคได้เช่นกัน
คุณพ่อคุณแม่อาจะสับสนระหว่าง "อาการโคลิค"กับ"ท้องร่วง" เพราะเวลาทารกร้องปวดท้องโคลิคมักจะมีอาการเกร็งหน้าท้องมากและเบ่งมาก ทำให้มีอาการถ่ายบ่อยในทารกบางราย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องแยกให้ออกระหว่าง อาการโคลิค กับท้องร่วง
สาเหตุของอาการโคลิค
อาการโคลิคเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
・การเจริญเติบโตไม่เต็มที่ของระบบประสาทและระบบย่อยอาหาร
・การที่ทารกรับรู้ถึงความกังวลของคุณพ่อคุณแม่
・การกินนมมากเกินไป ท้องอืดเนื่องจากน้ำตาลแลคโตสย่อยไม่หมด ค้างในโพรงลำไส้
・การเสียดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้
หลักจากที่เราพูดถึงอาการโคลิคกันไปแล้วว่า คืออะไร
มัมบี้เลยมี เคล็ดลับง่ายๆ ที่จะสามารถช่วยดูแลลูกจาก "อาการโคลิค" ดังนี้
1. ถ้าเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีรสเผ็ด พวกผักกะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ กะหล่ำดาว และถั่วต่างๆ เพราะเป็นอาหารที่อาจทำให้ท้องอืด คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมจากเต้าเพียงข้างเดียวในการให้นมแต่ละครั้ง เพื่อให้เขาได้รับ “น้ำนมเข้มข้น” หรือนมส่วนหลัง ซึ่งจะมีไขมันที่มากกว่านมส่วนหน้าซึ่งจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก และมีแลคโตสสูงกว่า การที่ให้ลูกดูดนมจากเต้าเพียงข้างเดียวจนเกลี้ยงเต้าจะทำให้ลูกได้รับน้ำนมครบทั้ง 2 ส่วน และเป็นการเลี่ยงการได้รับแลคโตสมากเกินไป ลูกจะรู้สึกอิ่มท้อง หลับสบาย และอาจช่วยลดอาการร้องโคลิค
2. ถ้าเลี้ยงลูกด้วยนมผสมจากขวด ให้ลดปริมาณอากาศที่ถูกดูดเข้าไปทางจุกนมให้มากที่สุดโดยตั้งขวดให้นมในขวดท่วมหัวจุกนม หรือ ลองใช้ขวดนมที่ป้องกันการสำลักซึ่งช่วยลดการกลืนอากาศ พยายามช่วยให้ลูกเรอออกมา ไม่เปลี่ยนสูตรนมผงโดยไม่ได้ขอคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ และตรวจดูให้แน่ใจว่าคุณแม่ชงนมโดยใช้นมผงและน้ำในสัดส่วนที่ถูกต้อง
3. นวดบริเวณท้องของลูกเบาๆ ในทิศทางตามเข็มนาฬิกา จากขวาล่างขึ้นไปชายโครงขวา ผ่านหน้าท้องด้านบนไปทางชายโครงซ้าย วกลงล่างมาที่หน้าท้องด้านล่างซึ่งเป็นตำแหน่งของลำไส้ใหญ่ ลำไส้ใหญ่จะได้เคลื่อนบีบตัวดันให้ลมและอุจจาระลงมาทางทวารหนัก
4. วางขวดน้ำร้อนหรือเยลอุ่นที่หุ้มผ้าไว้แล้วลงบนท้องลูก หรือนำลูกลงแช่ในอ่างน้ำอุ่นที่มีระดับน้ำสูงประมาณ 5 เซนติเมตร ความร้อนจะช่วยลูกผ่อนคลายและบรรเทาอาการปวดได้ดีเยี่ยม
5. ใช้เป้อุ้มเด็ก หรือผ้าอุ้มเด็กให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะการที่ตัวลูกอยู่ตั้งฉากกับพื้นจะช่วยคลายความเจ็บปวดให้กับลูก จากสถิติพบว่า ทารกในหลายประเทศไม่เป็นโคลิค เนื่องจากมีการอุ้มเด็กเกือบตลอดทั้งวัน
6. การดูดช่วยให้ลูกผ่อนคลาย ทารกอาจต้องการดูดนมตลอดเวลา แต่วิธีนี้อาจเกิดความเสี่ยง คือการได้รับนมมากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง ซึ่งจะกลายเป็นวงจรให้เกิดอาการโคลิคได้
เพื่อคลายความกังวลถ้าหากลูกน้อยของคุณมีอาการโคลิค แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ปรึกษาแพทย์เพื่อจะได้สร้างความมั่นใจและยืนยันว่าลูกเป็นโคลิคจริงหรือไม่นะคะ
แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถสบายใจได้เลยคือ อาการโคลิคไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของลูก เมื่อหยุดร้องแล้วลูกกลับเป็นปกติ และอาการโคลิกจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็หายไปเอง