เมทฮีโมโกลบินในไส้กรอก คืออะไร?
มัมบี้ หาคำตอบให้!
คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านคงจะได้อ่านข่าวกันมาบ้างแล้วใช่ไหมคะ เรื่อง "อย่ากินไส้กรอกที่ระบุแหล่งไม่แน่ชัด" เพราะจากข่าวนั้นพบเด็กป่วยภาวะ "เมทฮีโมโกลบิน"
แล้วภาวะที่ว่ามานี้คืออะไร จะเป็นอันตรายต่อลูกของเราหรือไม่ วันนี้มัมบี้หาคำตอบมาให้แม่ๆ แล้วค่ะ 😊
ภาวะ เมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) คือ...
เป็นภาวะที่ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงถูกออกซิไดซ์โดยสารออกซิแดนท์ต่างๆ กลายเป็น methemoglobin ทำให้สูญเสียความสามารถในการขนส่งออกซิเจน และสีของเม็ดเลือดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ
(สารออกซิแดนท์ อาจมีการเติมในไส้กรอกหรืออาหารแปรรูป คือ สารตระกูลไนเตรท ซึ่งเป็นวัตถุกันเสีย)
ปกติร่างกายคนเราได้รับสารออกซิแดนท์ในขนาดน้อยๆ จากแหล่งต่างๆ แต่ไม่เกิดปัญหา เพราะร่างกายสามารถเปลี่ยน methemoglobin กลับเป็นฮีโมโกลบินปกติได้ แต่หากมีปริมาณ methemoglobin สูงมากๆ (ได้รับสารออกซิแดนท์เยอะเกินไป) ร่างกายจะเปลี่ยน methemoglobin คืนเป็นฮีโมโกลบินปกติไม่ทัน นำไปสู่ภาวะขาดออกซิเจน
ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการของการขาดออกซิเจน
เช่น มึนศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจเร็ว หากรุนแรง จะมีอาการหอบเหนื่อยมาก เลือดเป็นกรด ความดันโลหิตต่ำ และอาจเสียชีวิตได้
แล้วภาวะ "เมทฮีโมโกลบินอันตรายต่อเด็ก" หรือไม่?
ในเด็กความสามารถในการเปลี่ยน methemoglobin กลับเป็นฮีโมโกลบินปกติจะน้อยกว่าในผู้ใหญ่ เด็กจึงเกิด methemoglobin ได้ง่ายกว่าค่ะ
คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองของเด็กๆ ควรระวังเรื่องการรับประทานไส้กรอกจากแหล่งที่ไม่แน่ชัดหรือไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากเด็กจะไวต่อสารกลุ่มนี้มากกว่าผู้ใหญ่ หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลทันทีนะคะ