พัฒนาการ: ลูกน้อยวัย 3 ขวบ
เพราะลูกน้อยวัย 3 ขวบเป็นวัยกำลังเรียนรู้ พูดตาม ทำตาม เหล่าคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย ควรคอยสังเกตลูกน้อยถึงการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ทั้งร่างกาย ทั้งคำพูด รวมถึงท่าทางต่างๆ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่คอยเสริมพัฒนาการ และคอยดูแลความปลอดภัยของลูกน้อยของท่าน
เรามาเช็คลิสต์พัฒนาการของลูกน้อยวัย 3 ขวบ กันดีกว่าค่ะ
พัฒนาการด้านร่างกาย
ในวัยนี้กล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ของเด็กจะมีพัฒนาการมากขึ้นเด็กสามารถยืนด้วยขาข้างเดียวโดยไม่เกาะได้นาน 3-5 วินาที โดยประมาณสามารถวาดเส้นเป็นวงกลม รับลูกบอลที่โยนให้ และสามารถกระโดดขาเดียว
วิธีเสริมสร้างพัฒนาการด้านร่างกาย
ปล่อยให้ลูกเล่นอย่างอิสระ เล่นเครื่อง เล่นในสนามกับเด็กคนอื่นๆ เล่นปีนป่าย กระโดด ขึ้นบันได หรือขี่จักรยาน 3 ล้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ได้มีพัฒนาการที่ดี และคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูแลความปลอดภัยไม่ให้ลูกน้อยเกิดอุบัติเหตุ
พัฒนาการด้านการสื่อสาร
ในวัยอนุบาล เด็กจะมีความเข้าใจในการใช้ภาษาและสามารถสื่อสารรู้เรื่องมากขึ้นเด็กจะเริ่มพูดเป็นประโยคง่ายๆ ได้ 2-3 ประโยคสามารถทำตามคำสั่งต่อเนื่องกับ 2 วัตถุ เช่น “เก็บตุ๊กตาแล้วหยิบลูกบอลไว้ในตะกร้า” ได้สามารถจำชื่อของเพื่อนๆ และสามารถบอกชื่อและอายุของตัวเองได้
วิธีเสริมสร้างพัฒนาการด้านการสื่อสาร
คุณพ่อคุณแม่หมั่นเล่านิทาน หรือร้องเพลงให้กับลูกน้อย เพื่อส่งเสริมให้ลูกกล้าพูด กล้าเล่าเรื่อง กล้าร้องเพลง และได้แสดงท่าทางต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ภาษาและการสื่อสาร
พัฒนาการด้านความคิด
สามารถเล่นและเรียนรู้ในรูปแบบที่ซับซ้อนเป็นระบบมากขึ้น มีจินตนาการที่สูง
สามารถเปิดหนังสือทีละแผ่น ต่อก้อนไม้สูง 8 ชั้น รู้จักจำนวน 1-3 ชิ้น เริ่มนับเลขได้ และเริ่มหัดขีดเขียนตัวอักษรได้
วิธีเสริมสร้างพัฒนาการด้านความคิด
ชวนลูกฝึกสมองด้วยการชวนเขาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ฝึกขีดเขียน ระบายสี นับเลข เล่นบทบาทสมมุติ ให้พวกเขาได้เล่นของเล่นที่มีสี ขนาด รูปทรง หรือพื้นผิวที่แตกต่างกัน และคอยสังเกตว่าลูกน้อยของคุณชื่นชอบทางด้านไหน เพื่อสนับสนุนลูกต่อไปในอนาคต
พัฒนาการด้านอารมณ์
พวกเขาแสดงอารมณ์และสื่อสารความรู้สึกของเขาได้อย่างซื่อตรงและชัดเจน เขาสามารถปฏิเสธด้วยคำว่า ไม่ และแสดงอาการต่อต้านเมื่อถูกบังคับเล็กน้อย แต่อย่าพึ่งกังวลใจ เพราะเราสามารถสอนให้ลูกน้อยรู้จักคำว่าอดทน และรอคอยได้
อีกอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้คือ เด็กในวัยนี้จะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ยังไม่เข้าใจเหตุผลต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง ให้พยายามทำความเข้าใจ และคอยสอนอย่างใจเย็น
วิธีเสริมสร้างพัฒนาการด้านอารมณ์
ไม่ควรบังคับหรือตามใจลูกจนเกินไป การสนใจความรู้สึกของลูกคือเรื่องสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยความเข้มงวดอย่างพอดี ไม่บังคับฝืนใจให้เขาทำในสิ่งที่ไม่ชอบ แต่ก็ไม่ตามใจ และคอยตักเตือนเมื่อลูกทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง