ลำไส้ติดเชื้อที่อาจทำให้แม่เข้าใจผิดว่าเป็น RSV และ COVID

โรคนี้อาจเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โดยไวรัสที่พบบ่อยที่สุดคือ ไวรัสโรต้า
อาการทั่วไปหากไม่รุนแรงเด็กจะถ่ายเหลวปริมาณไม่มาก ทานน้ำ และอาหารได้ ไม่หงอยซึม แต่หากอาการรุนแรงนอกจากจะปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเหลว เด็กจะมีอาการไข้ตัวร้อน บางทีมีน้ำมูกและไอ อาเจียน กินอะไรไม่ได้ตรงนี้เองที่ทำให้คุณแม่คิดไปว่าลูกจะเป็น RSV หรือ COVID ซึ่งมีจุดสังเกตต่างกันดังนี้
RSV เด็กจะมีเสมหะเขียว หายใจมีเสียงครืดๆ ไอรุนแรง ส่วน COVID-19 เด็กจะมีอาการไอเจ็บคอ และเหนื่อยหอบ
ไวรัส RSV คืออะไร
ไวรัส RSV คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ชื่อภาษาอังกฤษคือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้ร่างกายผลิตเสมหะออกมาจำนวนมาก ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้มีมานานหลาย 10 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันเริ่มมาเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นเนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ มักจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก
วิธีสังเกตอาการว่าติดเชื้อไวรัส RSV หรือไม่
เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส RSV ระยะเริ่มต้นนั้นใช้เวลาในการฝักตัวประมาณ 3-6 วัน หลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา เริ่มจากการมีน้ำมูก จาม ไอ ทำให้ คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองรู้ตัวช้า ดังนั้นจึงต้องคอยสังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด และต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มด้วย เช่น อยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ไอ จาม มีเสมหะจำนวนมาก หายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีด ซึ่งเป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าหลอดลมตีบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบ
วิธีรักษา
เบื้องต้นไวรัส RSV ไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน ดังนั้นแพทย์จึงใช้วิธีการรักษาไปตามอาการ รักษาประคับประคอง ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาลดไข้ หรือในเด็กบางรายที่มีลักษณะของหลอดลมตีบ ก็อาจจะมีการให้ยาพ่นเพิ่มเพื่อขยายหลอดลม รวมถึงการเคาะปอดและดูดเสมหะ
วิธีการป้องกันให้ลูกรักรอดพ้นจากสามโรคนี้
คือการพยายามให้เด็ก ๆ ล้างมือให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดต่อทางการสัมผัส ใส่หน้ากากอนามัยในที่ที่คนพลุกพล่าน ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ ให้เด็กดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อลดภาวะขาดน้ำและช่วยขับเสมหะออกจากร่างกาย แต่ถ้าหากเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่หย่านม ก็สามารถให้เด็กดูดนมได้มากที่สุดตามต้องการ แยกอุปกรณ์และภาชนะต่าง ๆ ของเด็กแต่ละคน ไม่ควรใช้ร่วมกัน รวมถึงความสะอาดถูกสุขอนามัยของอาหารด้วยที่ควรปรุงสุก ไม่ปล่อยให้เด็กกินของค้าง หรือวางทิ้งไว้นานๆ