ภาวะโรคเครียดในเด็ก
ผู้ใหญ่หลายคนอาจกำลังคิดว่าเป็นเด็กจะมีเรื่องเครียดอะไร แต่เชื่อเถอะ เด็กเองก็มีความเครียดไม่ต่างจากผู้ใหญ่อย่างเราๆ เพราะความเครียดเป็นสิ่งที่สามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กๆ
การป้องกันปัญหาความเครียดในเด็ก สามารถแก้ไขได้หากต้องเสริมสร้างทักษะความรู้ในการจัดการกับความเครียดของตนเอง เพื่อสามารถดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งหากเด็กมีความเครียดสะสมในระดับที่มากเกินไป จะส่งผลกระทบทางด้านลบต่อปัญหาสุขภาพกายและจิตใจได้ สาเหตุที่ทำให้เด็กเครียดมีอะไรบ้างมาดูกันค่ะ
สาเหตุของความเครียด มีด้วยกัน 2 สาเหตุ
1. ปัจจัยภายนอก
เช่น เรื่องการบ้าน ความขัดแย้งกันในครอบครัว การย้ายบ้าน เป็นต้น
2. ปัจจัยภายใน
ซึ่งเด็กบางคนมีนิสัยที่คิดมาก หรือวิตกกังวลในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือสารเคมีในสมองไม่สมดุล ทำให้เกิดอารมณ์เครียดและเศร้าได้อย่างง่ายดาย
รู้อย่างนี้แล้ว เหล่าคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดู คอยสังเกตอาการของเจ้าตัวเล็กในบ้าน และคอยถามไถ่ถึงสิ่งที่เจ้าตัวเล็กในบ้านไปพบเจอมาในแต่ละวัน เพราะสิ่งที่ไม่เหมือนกันของเด็กและผู้ใหญ่ คือการแสดงออกที่ต่างกัน
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเด็กไม่สามารถแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก รวมไปถึงความเครียดออกมาได้ชัด แต่จะแสดงออกมาเป็น ความวิตกกังวล ร้องไห้ อาการหงุดหงิด และไม่มีสมาธิ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ หรือคนใกล้ตัวต้องจับอาการเหล่านั้นให้ได้ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเด็กๆ อาจแสดงอาการล่วงหน้าได้ดังนี้
- แสดงความวิตกกังวลออกมา ในสถานการณ์ที่ปกติ
- ไม่สามารถคลายเครียดได้ แม้จะอยู่ในบรรยากาศที่สนุกสนาน
- เกิดภาวะความกลัว ทั้งที่ไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้ เช่น กลัวความมืด กลัวคนแปลกหน้า กลัวการอยู่คนเดียว
- แสดงอาการติดพ่อ ติดแม่มากกว่าปกติ
- แสดงความโกรธที่ควบคุมไม่ได้ หรือร้องไห้หนักและถี่มากเมื่อมีสิ่งเร้า
- ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมกับครอบครัว หรือทางโรงเรียนได้
ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณบางส่วนที่ช่วยให้พ่อแม่สามารถรับรู้ความผิดปกติของลูกน้อย และยังสามารถคอยป้องกันเจ้าตัวเล็ก ไม่ให้มีอาการเหล่านี้ได้โดยวิธีต่างๆ ดังนี้
1. การรับฟัง
รับฟังปัญหาของลูกด้วยความเข้าใจ พูดคุยกับลูก ไม่ว่าเรื่องที่เขาเล่าอาจจะดูเล็กน้อยสำหรับผู้ใหญ่แค่ไหนก็ตาม จะช่วยทำให้ลูกรู้สึกสบายใจ และเมื่อรับรู้ปัญหา ก็จะสามารถแนะนำแนวทางในการแก้ปัญหาให้ลูกได้ถูกจุดมากขึ้น
2. ไม่กดดัน
แน่นอนว่าทั้งความหวังดีและความคาดหวังที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการมอบให้ลูกนั้นคือสิ่งที่จะช่วยให้เขาเติบโตไปได้อย่างมีคุณภาพ แต่อย่าลืมนึกถึงจิตใจของเขาเป็นอันดับแรก เพราะการที่เด็กเครียดนั้นอาจเกิดจากความคาดหวังและกดดันที่มากเกินไป พลอยแต่จะส่งผลเสียให้กับผู้ที่จะต้องแบกรับความกดดันนั้น ซึ่งในบริบทนี้คือลูกของเราเอง คุณพ่อคุณแม่ควรชั่งน้ำหนักและบริหารความหวังดีของตัวเองให้เหมาะสม ก่อนที่จะมอบให้ลูกอย่างเข้าอกเข้าใจ เพื่อไม่ให้ลูกเกิดความเครียด โดยเฉพาะในเรื่องการเรียน
3. ใช้เวลาอยู่กับลูกและพยายามเข้าอกเข้าใจ
คุณพ่อคุณแม่ควรหาเวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูก หรือทำกิจกรรมร่วมกันเป็นครอบครัว เพื่อสานความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวให้แน่นแฟ้น เมื่อลูกรู้สึกปลอดภัยที่จะพูดคุยหรือระบายความในใจให้คุณพ่อคุณแม่ฟังแล้วคุณพ่อคุณแม่ควรรับฟังเรื่องเหล่านั้นไม่ว่าลูกเครียดเรื่องเรียน ปัญหาที่โรงเรียน หรือปัญหาอื่นๆ ก็ตาม เมื่อนั้นคอยจังหวะที่เราจะได้ให้คำปรึกษาแก่ลูก และเข้าใจสภาพจิตใจและภาวะของลูกนั่นเอง
4. เสริมสร้างทัศนคติเชิงบวก
ด้วยการทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารอย่างพร้อมหน้า ดูหนังด้วยกันทั้งครอบครัว เพื่อให้ลูกได้มีเวลาอยู่กับพ่อแม่มากขึ้น และกล้าที่จะเปิดใจเล่าปัญหาต่างๆ กับพ่อแม่เพื่อช่วยบรรเทา และช่วยป้องกันความเครียด
อย่างไรก็ตาม ปัญหาภาวะเครียดของเด็กแต่ละคนก็มีความรุนแรงของอาการไม่เท่ากัน และในบางครั้งอาจต้องขอความช่วยเหลือจากแพทย์เฉพาะทาง เช่นอาการดังต่อไปนี้
- เริ่มมีพฤติกรรมแยกตัวจากสังคม หรือแสดงอาการของภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย
- เริ่มมีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียน หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวแย่ลง
- ไม่สามารถควบคุมความโกรธของตนเองได้ และปลดปล่อยออกมาโดยไม่มีใครห้ามได้
รู้อย่างนี้แล้ว เหล่าคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย อย่าลืมดูแลเจ้าตัวเล็กให้ห่างจากภาวะโรคเครียดกันด้วยนะคะ