mombieclub
mombieclub
@mombieclub

สอนลูกให้รู้ เรื่องความฉลาดทางอารมณ์ ได้อย่างไร และต้องเริ่มที่ตรงไหน

สอนลูกให้รู้ เรื่องความฉลาดทางอารมณ์ ได้อย่างไร และต้องเริ่มที่ตรงไหน

อารมณ์เป็นเหมือนพลังงานที่ขับเคลื่อนในสมอง ถ้าเราดูคำว่า emotion จะมีคำว่า motion ที่อารมณ์ความรู้สึกจะขับเคลื่อนเราทั้ง จิตใจ คำพูด และร่างกาย ซึ่งพลังงานของอารมณ์เป็นได้ทั้งบวกและลบ ซึ่งเราจะมองไม่เห็นแต่สัมผัสหรือรู้สึกได้ ความรู้สึกเป็นภาษาที่ใช้บอกถึงพลังงานของอารมณ์ เป็นเหมือนเครื่องวัดที่บอกว่า ณ เวลานี้เราปลอดภัยหรือสะดวกสบายพอ หรือต้องการได้รับการช่วยเหลือ ความรู้สึกจะให้ข้อมูลที่สำคัญ เช่น ความรู้สึกกลัว จะบอกว่ามีอันตรายที่เราจะทำการป้องกันตนเอง ดังนั้น การใส่ใจกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้ว่าอะไรควรทำหรืออะไรที่เราต้องเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม เรามักแสดงพลังงานของอารมณ์ผ่านออกมาบนหน้าตา ในน้ำเสียง หรือในท่าทางการเคลื่อนไหว ซึ่งเราจะช่วยให้มองเห็นอารมณ์ได้ ภาษาท่าทางที่ถูกสื่อสารออกมาจะต้องทำการแปลข้อมูลเพื่อให้เกิดความเข้าใจและตอบสนองอย่างเหมาะสม ซึ่งเด็กในวัยก่อนอนุบาล 2-3 ขวบนี้ยังคงพัฒนาทักษะภาษาอยู่ คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงภาษาท่าทางเหล่านี้ในการสื่อสารกับเด็ก ภาษาท่าทางที่สำคัญ ได้แก่ การสบตา ท่าทาง โทนเสียง การแสดงออกทางสีหน้าและการสัมผัส 

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น แม่รักหนูนะ การพูดประโยคนี้อาจไม่มีประสิทธิภาพ หากเราไม่คำนึงถึงภาษาท่าทางที่เราส่งสารไปยังเด็กก็ได้ เช่น เวลาพูด เราไม่สบตา ยืนในระดับที่สูงกว่า หรือกอดอกพูด เป็นต้น 

การสบตา

การสบตากับเด็กจะเป็นสัญญาณส่งสารว่าเขามีความสำคัญ เราให้ความใส่ใจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งสาร อย่างไรก็ตาม บางครั้งเราก็ใช้การส่งสารในการสบตาเพื่อบอกว่าเราโกรธ ตำหนิ หรือต้องการสั่งสอน เพื่อส่งพลังของการส่งสารออกไป แต่ในบางครั้งการสบตา อาจเป็นการบอกถึงความไม่เคารพ เช่น ครูอาจมองว่าเด็กกล้าสบตา กำลังแสดงความไม่เคารพอยู่ ดังนั้น การสบตาจึงเป็นภาษาที่เด็กกำลังเรียนรู้ถึงบริบทที่เกี่ยวข้อง

ท่าทางและท่ายืน

ท่าทางและท่ายืน เวลาในการสื่อสารกับเด็ก จึงจำเป็นที่เราที่จำต้องจัดตัวเราให้มีระดับสายตาอยู่ในแนวเดียวกันกับเด็ก การยืนของผู้ใหญ่จะแสดงถึงอำนาจที่มากกว่าทั้งขนาดและความสูง เราจึงต้องคุกเข่าลงหรือนั่งบนโซฟาให้สามารถสบตาในเวลาพูดกับเด็กได้ตลอด 

โทนน้ำเสียง

โทนน้ำเสียง เช่นเดียวกัน ประโยคที่เราพูดหากใส่โทนเสียงเข้าไปก็อาจให้ความหมายที่แตกต่างกันได้

การแสดงออกทางสีหน้าและการสัมผัส

การแสดงออกทางสีหน้าและการสัมผัส การสื่อสารที่เราแสดงออกเวลาที่เด็กไม่สบาย เราอาจเพียงนั่งลงข้างเตียง ลูบผมอย่างอ่อนโยน ก็อาจเป็นการส่งสารโดยไม่ใช้คำพูดเลยว่าเรามีความห่วงใย ต้องการช่วยเหลือ และอยากให้มีอาการดีขึ้น 

ดังนั้น การส่งสารของคุณพ่อคุณแม่ด้วยภาษาท่าทางเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ ทั้งในการเป็นต้นแบบและเป็นผู้ที่ต้องสังเกตเพื่อให้เข้าใจภาษาที่บอกถึงอารมณ์ความรู้สึกของเด็ก เครื่องมืออีกอย่างที่สำคัญ คือ การฟังอย่างเข้าใจ การฟังแบบ active เป็นศิลปะของการสังเกตและฟังความรู้สึกและสะท้อนกลับให้ผู้พูดได้รู้ ซึ่งการฟังอย่างเข้าใจนี้ ไม่จำเป็นที่เราต้องเห็นด้วยกับความรู้สึกของเด็ก แต่เป็นการอนุญาตให้เด็กสามารถแสดงออกและสามารถเชื่อมโยงและมีความเข้าใจถึงข้อมูลอารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ในสถานการณ์ที่พี่น้องนั่งเล่นด้วยกัน แล้วน้องเล่นลูกบอลลูกใหม่อยู่คนเดียว ไม่ยอมให้เล่นด้วย ทำให้พี่โกรธแล้วตีน้อง จากสถานการณ์เราอาจใช้ประโยคของการสะท้อนความเข้าใจที่บอกถึงการฟังอย่างเข้าใจด้วยประโยค เช่น “หนูกำลังโกรธน้องที่ไม่ยอมให้หนูเล่นลูกบอลใหม่ด้วย” แต่ หากเราใช้ประโยคว่า “เป็นพี่ก็ไม่ควรทำแบบนี้” “ทำน้องแบบนี้ไม่ดีนะ” ประโยคเหล่านี้ไม่ได้แสดงถึงความเข้าใจแต่กลับก่อให้เกิดการต่อต้าน ทำให้เกิดการโต้เถียงและรู้สึกคับข้องใจ ซึ่งการพูดประโยคที่สะท้อนถึงความเข้าใจในความรู้สึกนี้เรียกว่าประโยค I มักจะพูดจากความรู้สึกของเรา เช่น แม่รู้สึกไม่ชอบใจที่หนูทิ้งของเล่นเกลื่อนในห้อง ซึ่งแม่กลัวว่าจะทำให้คุณยายมาเหยียบและลื่นล้มได้ หนู่จะทำอย่างไรดี เป็นต้น ประโยค I จะไม่เป็นการตัดสิน แต่จะช่วยค้นหาความรู้สึกแท้จริงที่เกิดขึ้น การตรวจสอบความรู้สึกของเด็กด้วยความรักและความเข้าใจจะช่วยนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีมีความไว้วางใจ

เราจะช่วยให้เด็กตระหนักรู้และจัดการอารมณ์ได้อย่างไร

  • ใช้การวาดภาพอารมณ์ ให้เด็กได้รู้จักอารมณ์ความรู้สึกต่างๆมากขึ้น
  • ให้เด็กพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมากกว่าการกระทำ
  • ใช้การถามให้เด็กได้สังเกตร่างกายว่าเป็นอย่างไรเวลาโกรธ เพื่อหาวิธีการจัดการก่อนที่ความโกรธจะควบคุมไม่ได้
  • ใช้ ชาร์ตหน้าอารมณ์ความรู้สึกในการตรวจสอบอารมณ์
  • ให้แนวทางในการจัดการกับความรู้สึกโกรธที่ยอมรับได้ เช่น มีกล่องระบายความโกรธ
  • สอนเทคนิคการหายใจ อยู่กับลมหายใจเข้าออก
  • ให้ ขอเวลานอก เพื่อควบคุมอารมณ์
  • พูดคุยกันเกี่ยวกับอารมณ์ต่างๆ อาจใช้หนังสือนิทานที่สอนในเรื่องนี้ก็ได้
  • สร้างวงล้อวิธีจัดการกับอารมณ์โกรธ
  • มีคำพูดสั้นๆไว้บอกหรือเตือนกับตัวเอง

น้อง 6 ขวบอารมณ์อ่อนไหวร้องไห้บ่อยขี้น้อยใจเริ่มเถียง

 เราเริ่มที่การฟังอย่างเข้าใจก่อน ว่าสิ่งที่ลูกกำลังรู้สึกคือความรู้สึกใด กำลังส่งสารหรือข้อมูลใดบอกเราหรือบอกความต้องการอะไรบางอย่างออกมา เด็กรู้สึกน้อยใจอาจรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ได้รับความเป็นธรรมบางอย่าง ลองวิเคราะห์หรือแปลความหมายจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งค่อยๆกลับมามองรูปแบบภาษาท่าทางที่เราใช้ในการส่งสารด้วยคะว่าเป็นอย่างไร น้ำเสียง การสบตา ท่าทาง การสัมผัสต่างๆ ช่วยให้ลูกได้รับรู้อย่างมั่นคงว่า มีความรักความเข้าใจเป็นอย่างไร ตลอดจนการเข้าใจถึงที่มาของอารมณ์ความรู้สึกที่นำไปสู่การแสดงออกของลูก

น้อง 6 ขวบชอบแสดงอารมณ์โกรธหงุดหงิดใส่เวลาไม่ได้ดั่งใจ

เราใช้การสอนว่า เมื่อมีอารมณ์โกรธให้แสดงออกด้วยการบอกความรู้สึก แทนการแสดงออก คุณแม่ใช้การฟังอย่างเข้าใจ เช่น สะท้อนว่า “หนูกำลังหงุดหงิดที่ไม่เป็นไปตามที่หนูคิด” แล้วพูดคุยถึงความรู้สึกที่แท้จริงและการนำไปสู่วิธีการแก้ไขปัญหา และสอนให้น้อง ขอเวลานอกจนกว่าจะสงบอารมณ์ได้ถึงค่อยคุยกับคุณแม่ได้คะ

การดูแลลูกเป็นทักษะคะ ต้องเรียนรู้และฝึกฝนคะ ค่อยๆฝึกที่จะควบคุมอารมณ์ตนเองคะ ลูกๆสังเกตเราและใช้เราเป็นต้นแบบในการจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นคะ เมื่อไรที่คุณแม่เริ่มรู้สึกมีอารมณ์ คุณแม่ก็ขอเวลานอกก่อนเลย อาจต้องใช้คนช่วยเมื่อลูกยังเล็ก พอสงบอารมณ์ได้ก็กลับมาดูแลน้องต่อ และที่สำคัญต้องไม่เกลียดตนเอง รักตัวเองให้กำลังใจตนเองที่เราสามารถเลี้ยงดูลูก 2 คนในเวลาเดียวกัน ทั้งหนักและเหนื่อยคะคุณแม่ เป็นกำลังใจให้นะคะ

จำเป็นต้องวัด IQ EQ

โดยทั่วไปเวลาเราพาลูกไปเข้าโรงเรียน โรงเรียนก็ไม่ได้ร้องขอนะคะ แต่ในกรณีที่เป็นเด็กกลุ่มที่ต้องดูแลพิเศษก็มักต้องมีเอกสารจากแพทย์หรือการตรวจพิเศษเพิ่มเติมคะ ซึ่งการไปตรวจ IQ นั้นก็จะประเมินสติปัญญา มีการพูดคุย มีการให้ทดสอบความเข้าใจภาษา ตัวเลข รูปทรง ก็สามารถประเมินได้ตั้งแต่ 2 ขวบเลยคะ แต่อย่างไรก็ตามเด็กยังอยู่ในวัยพัฒนา การเรียนรู้และฝึกฝนก็จะช่วยเพิ่มเติมทักษะที่จำเป็นในระหว่างการทดสอบคะ ค่าคะแนนที่ประเมินได้ก็อาจจะยังไม่แน่นอนในเด็กเล็กๆคะ

วัยทองสองขวบ มีพฤติกรรมที่เอาแต่ใจ ร้องกรี๊ด โวยวาย

ด้วยวัยของน้องเค้ายังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของเค้าได้ เป็นช่วงเวลาที่ดีคะที่คุณแม่จะสอนให้น้องรู้จักควบคุมอารมณ์ อาจเริ่มจากช่วงเวลาก่อนนอนคุณแม่ให้วลาน้องพูดคุยเล่าเรื่อง หรือเล่านิทานที่จะใช้สอนน้อง และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับน้อง คุณแม่ลองสังเกตพฤติกรรมของน้องว่ามีอะไรเป็นตัวกระตุ้น และจัดการกับตัวกระตุ้นเหล่านั้นก่อน หรือใช้การฟังอย่างเข้าใจถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้ยอมรับในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เมื่อมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม คุณแม่ก็ต้องมีกติกาในการจัดการกับพฤติกรรมเหล่านั้น

 เครื่องมือที่จะช่วยให้ลูกๆฉลาดทางอารมณ์ได้ คือ การฟังอย่างเข้าใจ ช่างสังเกตและใช้ภาษาทั้งภาษาพูดและภาษาท่าทางในการสื่อสารความเข้าใจให้ลูกได้รู้ว่าแม่เข้าใจและยอมรับกับการสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามพฤติกรรมที่แสดงออก เราอาจไม่เห็นด้วย เราก็ว่าไปตามกติกาที่จะช่วยกำกับให้พฤติกรรมมีความเหมาะสมในการแสดงออกมากขึ้น

โดย อาจารย์อุ๋ม ผศ.ดร.วไลลักษณ์ พุ่มพวง  ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความที่เกี่ยวข้อง
พัฒนาการเด็ก: ปัญหาสำคัญของลูกน้อยในแต่ละช่วงวัยที่ควรเข้าพบแพทย์
พัฒนาการเด็ก: ปัญหาสำคัญของลูกน้อยในแต่ละช่วงวัยที่ควรเข้าพบแพทย์
05 กรกฎาคม 2022 04:23
เด็กแต่ละวัยจะมีพัฒนาการและการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรใส่ใจ และส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของเด็กอย่างเหมาะสม ถ้าหากเด็กมีปัญห
สอนเด็ก: เคล็บลับ สอนเด็กใจเย็นและรู้จักการรอคอย
สอนเด็ก: เคล็บลับ สอนเด็กใจเย็นและรู้จักการรอคอย
27 พฤษภาคม 2022 06:51
ในปัจจุบันนี้การใช้ชีวิตมักจะเร่งรีบและรวดเร็วอยู่ตลอด คือ ยิ่งทำอะไรเร็วก็ยิ่งดี ยิ่งเก่ง เลยทำให้ผู้คน หรือเราๆ ที่เป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ จะต้องคิด
ลูกติดจอนาน เสี่ยงกระจกตาอักเสบ จริงไหม ?
ลูกติดจอนาน เสี่ยงกระจกตาอักเสบ จริงไหม ?
16 สิงหาคม 2023 03:23
จริง ใช่ว่าการใช้จอคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ต่อเวลานานอาจเสี่ยงต่อปัญหาต่างๆ เช่น กระจกตาอักเสบ อาการเหนื่อยตา และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพตาได้ โดยเฉพาะเมื่อใช้จอในระยะเวลานานๆ
คนท้อง: พ่อควรรับมืออย่างใจเย็น
คนท้อง: พ่อควรรับมืออย่างใจเย็น
22 กรกฎาคม 2022 04:23
ในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ เตรียมตัวเป็น คุณแม่มือใหม่ นั้น ร่างกายของคุณแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปร่างและสภาวะอารมณ์ เนื่องจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปเพ