เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เครียด

รู้หรือไม่ว่า...
สุขภาพจิตของลูกน้อยเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก การเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นมามีสุขภาพจิตที่ดี ลูกของคุณก็จะเป็นเด็กที่มีความสุขในชีวิต สามารถปรับตัวได้กับทุกสถานการณ์ และยังสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น
หลายๆ ครอบครัวอยากให้ลูกฉลาด อัจฉริยะ โดยไม่คำนึงถึงความเห็นหรือความสมัครใจของลูกเลย ทำให้มีเด็กๆ หลายคนเรียนในสิ่งที่พ่อแม่เลือกให้แล้วไม่มีความสุข หรือเด็กๆ ที่แบกรับความคาดหวังของครอบครัวมากจนทำให้กดดันและเกิดอาการเครียด
จะทำอย่างไรให้ลูกเติบโตเป็นเด็กที่มีสุขภาพจิตที่ดี เข้าใจตัวเองและผู้อื่นได้ เรามาดูวิธีที่จะสามารถฝึกเด็กๆให้เป็นเด็กที่มีสุขภาพจิตที่ดีกันนะคะ
สอนให้ลูกภูมิใจในตัวเอง
การสอนให้ลูกประเมินสิ่งที่ตัวเองทำว่า สำเร็จ หรือ ล้มเหลว นั้นหากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่า สิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งที่ดี เช่น การติดกระดุมเสื้อได้สำเร็จ เอาชามไปเก็บหลังจากกินข้าวเสร็จ วิธีเดียวที่จะทำให้เด็กรับรู้ได้ก็คือการ “ชม” วิธีชมที่ถูกต้องควรเป็นคำชมที่ระบุถึงพฤติกรรมที่ดีของลูกด้วยความจริงใจ เช่น “เก่งจังติดกระดุมเสื้อเองได้แล้ว”
และเมื่อลูกทำความผิดที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือเกิดหลังจากที่เคยห้ามเขาไว้แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือการตำหนิ แต่ “อย่าให้เสียเซลฟ์” ซึ่งสามารถทำด้วยการตำหนิเฉพาะในสิ่งที่เขาทำ โดยหลีกเลี่ยงการตีตราหรือตัดสินที่ตัวบุคคล เช่น การสรุปว่าเขาเป็นคนแบบนั้น “ลูกนี่เหลวไหลจริงๆ แม่บอกแล้วใช่ไหมว่าห้ามทำแบบนี้” แต่ควรบอกว่า “ลูกทำแบบนี้ไม่ได้นะคะ” ตามด้วยการบอกสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการให้เขาแก้ไขหรือบทลงโทษที่เขาจะได้รับ
สอนให้ลูกมองโลกในแง่ดี
เป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ลูกเติบโตเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี การสอนให้ลูกมองโลกในแง่ดี ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้มองเป็นเรื่องที่ดีไปหมดทุกอย่าง แต่การมองโลกในแง่ดีที่ว่านี้คือการมองหา “แง่มุมบวก” ที่อยู่ในเรื่องลบๆ เราควรสอนลูกให้มองหาเพื่อจะได้เกิดกำลังใจที่ดี รวมั้งยังช่วยให้ลูกได้ “ปรับตัว” หรือ “ทำใจ” กับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อีกด้วยค่ะ เหตุการณ์เช่น
- มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่เลวร้ายที่สุด เช่น หากคะแนนของลูกไม่มากพอที่จะเข้ามหาวิทยาลัยที่เขาอยากเข้ามากที่สุด แต่ก็ยังติดมหาวิทยาลัยที่เขาเลือกรองลงมา ก็บอกเขาไปว่า ยังดีกว่าไม่ได้ที่ไหนเลย
- มองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นสอนอะไรบ้าง เช่น ในกรณีที่ลูกวิ่งชนเพื่อนหกล้มหัวแตก แม้เหตุการณ์นี้จะทำให้ลูกเศร้า และรู้สึกผิดแค่ไหน แต่ลองสังเกตดูดีๆ คุณก็อาจพบว่า เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้ลูกวิ่งช้าลงและระมัดระวังตัวมากขึ้น
- มองว่าเรายังเหลืออะไรอยู่บ้าง เวลาที่สูญเสียอะไรบางอย่าง ก็อาจดีขึ้นได้หากพยายามมองให้เห็นความจริง เช่น ถึงลูกจะทำเงินหาย 500 บาท แต่อย่างน้อยเงินอีกหลายพันบาทที่บ้านก็ยังคงอยู่
สอนให้ลูกปรับตัวเก่ง
การปรับตัวเป็นคุณสมบัติสำคัญของมนุษย์ที่ช่วยรับมือในการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง หากฝึกให้ลูกมีความอดทนโดยการเลี้ยงดูแบบ “ไม่ตามใจ” ให้ลองทำกิจกรรมที่หลากหลาย และการเอาชนะอุปสรรค เช่น ปีนข้ามรั้วให้สำเร็จ เกมเขาวงกต เป็นต้น
สอนให้ลูกเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น
เมื่อเด็กขาดความเข้าอกเข้าใจตอนโตเป็นผู้ใหญ่ จะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้อื่น เช่น การเอาเปรียบเพื่อนร่วมงานโดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะรู้สึกยังไง สามารถเริ่มฝึกโดยการตั้งคำถามเกี่ยวกับความรู้สึก เช่น “แม่เห็นว่าหนูกำลังโกรธมากเลย โกรธอะไรใครบอกแม่หน่อยสิจ๊ะ” และความรู้สึกของผู้อื่น เช่น “หนูลองเดาซิว่าที่หนูไปพูดกับเพื่อนแบบนั้น เขาจะรู้สึกยังไง”
และอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญเลยคือ ตามธรรมชาติเด็กแรกเกิดจนถึงวัยอนุบาลนั้นมักจะเป็นผู้รับ มากกว่าการเป็นผู้ให้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหาโอกาสฝึกให้ลูกเป็นผู้ให้เสียบ้าง เช่น การแบ่งของกิน ของเล่น โดยเริ่มจากคุณพ่อคุณแม่ แล้วค่อยๆขยายออกไปเป็นเพื่อนๆ น้อง และคนอื่นๆ ต่อไป
สอนให้ลูกรักษาสิทธิของตัวเอง
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้สามารถจัดการกับคนที่จะมาเอาเปรียบเขาโดยเฉพาะตอนไม่มีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วย โดยการสอนคือให้ใช้วิธีการพูดเตือนด้วยความสุภาพ หรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ให้เข้ามาแก้ไขปัญหา และไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง
สอนให้ลูกมีความรับผิดชอบ
เป็นสิ่งพื้นฐานที่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกๆของคุณ คือ การให้มีความรับผิดชอบในตัวของเขาเอง เริ่มสอนได้ตั้งแต่ช่วงที่เขาฝึกเดินด้วยตัวเอง หรือช่วงที่ให้รู้จักอันตราย เพราะหากเขาไม่ระวังจะเป็นตัวเขาเองที่เจ็บตัว
สอนให้ลูกมีระเบียบวินัย
คุณพ่อคุณแม่ควรคุยกับลูกถึงกิจกรรมในแต่ละวัน เช่น ตื่นเช้า อาบน้ำ แปรงฟัน กินข้าวเช้า... ไปจนถึงเวลาเข้านอน โดยที่คุณจะต้องไม่ทำให้ลูกเครียดเกินไป
และถ้าอยากให้ลูกมีระเบียบวินัย ก็ควรให้รางวัลหลังจากที่เข้าทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายสำเร็จได้ดี ส่วนเรื่องการทำโทษก็ไม่ควรใช้ความรุนแรง
สอนให้ลูกมีความอดทน
การฝึกความอดทนสามารถฝึกให้ลูกได้ด้วยการไม่ตามใจลูกเกินไป ให้เขารู้จักรอคอย ถ้าอยากได้ของเล่นใหม่ก็ให้เขาพยายามทำอะไรดีๆ เช่น ตั้งใจเรียน มีวินัย ทำการบ้านทุกวัน หรือกำหนดเป้าหมายให้เขานั่นเอง