รวมเรื่องต้องรู้ของคุณแม่ผ่าคลอด

ผ่าคลอด หรือที่เรียกว่า Cesarean Section (C-Section)
คือการคลอดด้วยการผ่าตัดแทนการคลอดแบบธรรมชาติทางช่องคลอด ซึ่งแพทย์จะใช้วิธีเปิดปากแผลบริเวณระหว่างหน้าท้องและมดลูก บางครั้งการผ่าคลอดก็ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับแม่บางคน
ทำไมต้องผ่าคลอด ?
การผ่าคลอดนั้นจะถูกใช้ในกรณีที่การคลอดแบบธรรมชาติอาจไม่ปลอดภัยต่อทั้งแม่และเด็ก เช่น เคยได้รับการผ่าคลอดมาก่อน โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อคุณแม่เคยผ่านการผ่าคลอดมาแล้ว การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปก็อาจต้องใช้การผ่าคลอดเช่นกัน
มีการวินิจฉัยพบปัญหาสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายต่อมารดาหากทำวิธีคลอดแบบธรรมชาติ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น
ภาวะรกตํ่า (Placenta Previa)
เกิดขึ้นเมื่อรกเลื่อนลงไปอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูก หรือปกคลุมอยู่บริเวณปากมดลูก หากมีภาวะรกตํ่า อาจจำเป็นต้องนอนพักบนเตียงเพื่อดูอาการ และเมื่อถึงกำหนดคลอดก็อาจต้องใช้การผ่าคลอด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental Abruption)
เป็นภาวะที่รกแยกตัวออกจากเยื่อบุมดลูกก่อนกำหนด ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวอาจทำให้เกิดเลือดออกและปวดที่บริเวณมดลูก อีกทั้งยังทำให้ทารกไม่ได้รับออกซิเจนจึงทำให้ต้องทำการผ่าคลอดแบบฉุกเฉินเพื่อรักษาชีวิตเด็ก
มดลูกแตก (Uterine Rupture)
คือมารดาและเด็กขาดออกซิเจน จึงต้องได้รับการผ่าคลอดโดยด่วน
ทารกอยู่ในท่าก้นออก (Breech Position)
ถือเป็นท่าที่ผิดปกติในการคลอด เพราะการคลอดโดยธรรมชาติทารกจะต้องเอาศีรษะลง ดังนั้นการผ่าคลอดจึงเป็นวิธีเหมาะสมที่สุด แต่ทั้งนี้การคลอดแบบธรรมชาติก็สามารถทำได้ ยกเว้นในกรณีที่ทารกอยู่ในภาวะเครียด หรือภาวะสายสะดือย้อย (Cord Prolapse) ก็ต้องทำการผ่าคลอด นอกจากนี้ผ่าคลอดยังมักใช้ในกรณีที่คลอดก่อนกำหนดด้วย
ภาวะความเครียดของทารกในครรภ์ (Fetal Distress)
ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการที่ทารกขาดออกซิเจนไปเลี้ยงอย่างเพียงพอ ซึ่งถ้าการติดตามผลพบว่าทารกไม่สามารถได้รับออกซิเจนในปริมาณที่เพียงพอก็จำเป็นต้องผ่าคลอดเพื่อความปลอดภัย
การคลอดด้วยวิธีธรรมชาติล้มเหลว
ในกรณีที่ปากมดลูกเปิดไม่สุด การคลอดเป็นไปได้ช้า หรือเด็กอยู่ในท่าที่ไม่สามารถคลอดออกมาได้ ก็จำเป็นต้องผ่าคลอดเพื่อไม่ให้เด็กเป็นอันตราย
การผิดสัดส่วนระหว่างศีรษะทารกกับกระดูกเชิงกราน (Cephalopelvic Disproportion - CPD)
โดยส่วนใหญ่มักพบเมื่อขนาดศีรษะของทารกมีขนาดใหญ่กว่ากระดูกเชิงกรานของผู้เป็นแม่ จึงต้องใช้การผ่าคลอด
มีการกำเริบของเริมที่อวัยวะเพศ
หากในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 มารดามีอาการของเริมที่อวัยวะเพศกำเริบ ก็จำเป็นต้องทำการผ่าคลอดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากแม่สู่ลูกที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกได้
ตั้งครรภ์แฝด
ในบางกรณีที่มารดามีการตั้งครรภ์แฝด แต่ลักษณะการกลับตัวของทารกไม่พร้อมสำหรับการคลอด หรือร่างกายมารดาไม่พร้อมสำหรับการคลอดแบบธรรมชาติ ก็อาจต้องใช้การผ่าคลอดแทน
การเตรียมตัวก่อนผ่าคลอด
โดยส่วนใหญ่แล้วการผ่าคลอดจะต้องมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้า ดังนั้นหากคุณแม่ทราบกำหนดการผ่าคลอดแล้ว แพทย์จะแนะนำให้พูดคุยกับวิสัญญีแพทย์เกี่ยวกับเงื่อนไขสุขภาพเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาสลบ นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่ทำการตรวจเลือดก่อนทำการผ่าตัด เพื่อดูระดับฮีโมโกลบินและกรุ๊ปเลือดของคุณแม่ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์จัดเตรียมเลือดสำรองไว้ในกรณีทื่ให้เลือดในระหว่างการผ่าตัดได้อย่างถูกต้อง ทว่าหากคุณแม่วางแผนคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ การเตรียมตัวสำหรับการผ่าคลอดในกรณีที่อาจคาดไม่ถึงก็สำคัญเช่นกัน โดยคุณแม่ควรพูดคุยกับแพทย์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการผ่าคลอดก่อนจะถึงกำหนดคลอด เนื่องจากในกรณีฉุกเฉินแพทย์อาจไม่สามารถอธิบายและให้คำตอบเกี่ยวกับรายละเอียดได้ นอกจากนี้คุณแม่ควรมองหาคนที่คอยช่วยดูแลเด็กทารกจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากหลังการผ่าคลอด คุณแม่ต้องการได้รับพักผ่อนและการพักฟื้นอย่างมากเพื่อให้แผลผ่าตัดหายเร็วขึ้น การดูแลทารกด้วยตนเองอาจทำให้แผลหายช้าหรือติดเชื้อได้
เมื่อถึงกำหนดการผ่าคลอด คุณแม่ควรปฏิบัติตัวดังนี้
การเตรียมตัวที่บ้าน
เมื่อถึงกำหนดในการผ่าคลอด แพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่อาบนํ้าด้วยสบู่ฆ่าเชื้อมาก่อนทำการผ่าคลอด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และห้ามโกนขนอวัยวะเพศ เพราะจะทำให้ความเสี่ยงจากการติดเชื้อบริเวณที่ผ่าตัดเพิ่มขึ้น หากจำเป็นต้องกำจัดขนเหล่านั้นออก แพทย์จะทำการตัดในระหว่างก่อนผ่าตัดเอง
การเตรียมตัวที่โรงพยาบาล
ก่อนเข้าทำการผ่าคลอด คุณแม่จะต้องได้รับการทำความสะอาดบริเวณท้อง และใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อสวนปัสสาวะที่ตกค้างอยู่ ซึ่งแพทย์จะค้างสายสวนปัสสาวะเอาไว้จนผ่าคลอดเสร็จและจะนำออกหลังจากผ่าคลอดประมาณ 1 วัน นอกจากนี้ยังมีการเจาะแขนเพื่อใส่สายนํ้าเกลือสำหรับการให้เลือดหรือยา และคุณแม่อาจต้องใช้ยาลดกรดเพื่อลดอาการปวดท้องในระหว่างผ่าตัด
การดูแลรักษาตัวหลังการผ่าคลอด
หลังการผ่าคลอด โดยส่วนใหญ่แม่และเด็กจะต้องอยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 2-3 วัน เพื่อควบคุมอาการปวดหลังจากการผ่าตัด ซึ่งอาจต้องใช้ยาแก้ปวดทางสายนํ้าเกลือ อีกทั้งหลังจากการผ่าตัด คุณแม่ควรพยายามลุกขึ้นเดิน เนื่องจากการเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยให้แผลผ่าตัดสมานตัวได้เร็วขึ้น ลดอาการท้องผูก และลิ่มเลือดที่อาจเป็นอันตราย โดยในระหว่างอยู่ในโรงพยาบาล ทีมแพทย์จะคอยเฝ้าระวังการติดเชื้อของแผลผ่าตัด การเคลื่อนไหว รวมทั้งปริมาณนํ้าที่ดื่มและการทำงานของกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้
เมื่อร่างกายเกิดบาดแผล ผิวหนังบริเวณนั้นจะกระตุ้นการสมานแผลโดยการสร้างคอลลาเจน หากมีการผลิตคอลลาเจนมากเกินไปจะทำให้เกิดแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ขึ้นได้ ดังนั้น นอกจากการดูแลความสะอาดเพื่อลดภาวะแผลติดเชื้อ หลังจากที่แผลสมานแล้ว คุณแม่อาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น มีวิตามินอี เพื่อช่วยปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ ทำให้การสมานแผลของคอลลาเจนมีประสิทธิภาพดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้คุณแม่สามารถให้นมบุตรได้ทันทีที่คุณแม่รู้สึกดีขึ้น โดยควรปรึกษาพยาบาลเกี่ยวกับท่าทางในการให้นมบุตรที่สะดวกสบายต่อทั้งแม่และเด็ก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเกี่ยวกับยาที่ใช้ในการรักษาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการให้นมบุตร และก่อนออกจากโรงพยาบาลคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวการดูแลป้องกันที่แม่และเด็กต้องการ เช่น วัคซีน เพื่อป้องกันการเกิดโรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในแม่และเด็ก
พักฟื้นที่บ้านคุณแม่ควรดูแลรักษาตัวเองดังนี้
พักผ่อนให้มาก ๆ และควรวางของที่จำเป็นต่อแม่และเด็กไว้ใกล้มื้อ ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ควรหลีกเลี่ยงการยกของด้วยท่าย่อตัว หรือยกของที่นํ้าหนักมากกว่าทารก
ใช้หมอนรองบริเวณหน้าท้องขณะให้นมบุตร หรือใช้ผ้าพันบริเวณหน้าท้อง
ดื่มนํ้ามาก ๆ การดื่มนํ้าจะทดแทนการสูญเสียของเหลวจากการคลอดและการให้นมบุตร อีกทั้งยังช่วยป้องกันอาการท้องผูกอีกด้วย
ใช้ยาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาอย่างพาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด ซึ่งยาแก้ปวดส่วนใหญ่จะปลอดภัยกับผู้หญิงที่ให้นมบุตร
หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าแพทย์จะอนุญาต โดยปกติจะอยู่ที่ประมาณ 4-6 สัปดาห์
หลีกเลี่ยงการขับรถอย่างน้อย 6 สัปดาห์ เนื่องจากแผลผ่าคลอดนั้นจะอยู่บริเวณเข็ดขัดนิรภัย และอาจเกิดอาการบาดเจ็บที่แผลซํ้าได้หากมีการเบรครถอย่างกะทันหันหรือเกิดอุบัติเหตุ
ขณะที่พักฟื้นหลังการผ่าคลอดหากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบติดต่อแพทย์โดยเร็วที่สุด
มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีอาการแดง บวมหรือมีของเหลวไหลออกมาจากแผลผ่าตัด
มีอาการปวดที่หน้าอก ร่วมกับอาการแดง หรือมีไข้
มีของเหลวกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากช่องคลอด
รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ
มีเลือดออกจนเต็มผ้าอนามัยภายในเวลา 1 ชั่วโมงหรือมีเลือดออกต่อเนื่องกันมากกว่า 8 สัปดาห์หลังจากผ่าคลอด
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับผู้เป็นแม่
การติดเชื้อ
สามารถเกิดขึ้นได้กับบริเวณที่ผ่าตัด ภายในมดลูก หรืออวัยวะอื่น ๆ ในกระดูกเชิงกราน เช่น กระเพาะปัสสาวะ
อาการตกเลือดหรือสูญเสียเลือดมาก
การผ่าคลอดจะทำให้สูญเสียเลือดมากกว่าการคลอดแบบธรรมชาติ จนทำให้เกิดภาวะเลือดจางหรือต้องได้รับการให้เลือด
การบาดเจ็บที่อวัยวะ
การผ่าคลอดอาจส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บที่อวัยวะอื่น ๆ ได้ เช่น ลำไส้ หรือกระเพาะอาหาร เป็นต้น
พังผืดภายในช่องท้อง
เนื้อเยื่อที่สร้างตัวขึ้นในการสมานแผลภายในช่องท้องอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดตันและอาการปวดได้ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ในอนาคตทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ ภาวะรกตํ่า และภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดได้
อยู่ในโรงพยาบาลนานกว่ากำหนด
หลังการผ่าคลอด โดยปกติแล้วจะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลอย่างน้อย 3-5 วัน แต่อาจต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลนานกว่านั้นหากเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
ใช้เวลาพักฟื้นนาน
หากไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ การพักฟื้นจะกินเวลาไม่กี่สัปดาห์ไปจนถึงเพียงไม่กี่เดือน แต่ถ้าหากมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เกิดขึ้นในขณะพักฟื้นก็อาจกินเวลาไปถึง 6 เดือนได้
ผลข้างเคียงจากยา
ยาสลบที่ใช้ในการผ่าคลอด หรือยารักษาอาการปวดอาจให้ผลทางลบกับร่างกายหลังจากการผ่าคลอด
การผ่าตัดเพิ่มเติม
ในคุณแม่บางรายที่มีการผ่าคลอด การผ่าตัดอาจไม่จบหลังจากการคลอด แต่อาจมีการผ่าตัดอื่น ๆ ตามมา เช่น การผ่าตัดมดลูก การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะ และการผ่าคลอดสำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคต
การเสียชีวิต
อัตราการเสียชีวิตของแม่จากการผ่าคลอดอยู่ในระดับที่สูงกว่าการคลอดธรรมชาติ เนื่องจากต้องมีการสูญเสียเลือดเป็นจำนวนมาก
อารมณ์เปลี่ยนแปลง
การผ่าคลอดสามารถส่งผลต่อแม่ได้ โดยอาจมีความรู้สึกลบหรือความรู้สึกที่ไม่ดีเกี่ยวกับการคลอดหรือทารก นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะซึมเศร้าได้อีกด้วย
การเกิดรอยแผลเป็นนูน หรือคีลอยด์
แผลผ่าตัดที่เกิดจากการผ่าคลอดมีขนาดใหญ่ และมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นหรือคีลอยด์ได้ เนื่องจากกระบวนการสมานแผลอาจสร้างคอลลาเจนขึ้นมาทดแทนมากเกินไป คุณแม่อาจป้องกันด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีวิตามินอีเป็นส่วนผสม เพราะวิตามินอีมีส่วนช่วยในการสมานแผล เสริมความแข็งแรง และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผิว ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเกิดแผลเป็นหรือคีลอยด์ได้