กัญชา ส่งผลต่อแม่ท้อง แม่ให้นมลูก อย่างไรบ้าง?
หลังจากที่ประเทศไทย "ปลดล็อกกัญชา" อย่างเป็นทางการ ทำให้ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ต่างมีเมนูที่มีส่วนผสมของใบ "กัญชา" ซึ่งร้านอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ควรขึ้นป้ายเตือนไม่ให้แม่ๆ ที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เพราะอาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อทารกในครรภ์ได้ค่ะ
โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และวางแผนรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ในการนำกัญชากัญชงไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม จึงมีการห้ามจำหน่ายกัญชากัญชงให้ใช้ในแม่ตั้งครรภ์ แม่ให้นมลูก และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
แล้ว "กัญชา" คืออะไร ออกฤทธิ์แบบไหนบ้าง?
'กัญชา' เป็นพืชที่มีสารสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ Tetrahydrocannabinol (THC) มีฤทธิ์ทำให้มึนเมา เคลิบเคลิ้ม โดยแต่ละส่วนของกัญชาจะมีความเข้มข้นของสาร THC ต่างกัน และ Cannabidiol (CBD) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์อันดับ 2 ไม่ได้ทำให้เมา ทั้งยังมีส่วนช่วยเยียวยาปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย ซึ่งขณะนี้กฎหมายอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ปรุงอาหารได้ เฉพาะส่วนเปลือก ลำต้น เส้นใย ใบ กิ่งก้าน และราก ที่มี THC น้อย ห้ามนำส่วนช่อดอกที่มี THC มากมาใส่อาหาร แม้จะเป็นอาหารที่มีส่วนผสมของใบกัญชาตามที่กฎหมายอนุญาต แต่ในการกินก็ต้องระวัง เพราะการใส่ใบปริมาณมากอาจทำให้สารเมาสะสมเพิ่มขึ้นได้ค่ะ
อีกหนึ่งกลุ่มคนที่มีความเปราะบางหรืออ่อนไหวกับสารต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายอยู่แล้ว เป็นไปได้ว่าถ้าใช้ปริมาณใบกัญชาที่เท่าๆ กับคนทั่วไป อาจจะได้รับฤทธิ์เมามากกว่าคนอื่น โดยกลุ่มที่ควรระมัดระวังคือ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กและเยาวชน และผู้สูงอายุ
แม่ท้องกิน "กัญชา" ได้ไหม?
ปัจจุบันมีรายงานว่า แม่ตั้งครรภ์ใช้กัญชาเพื่อลดอาการแพ้ท้อง โรควิตกกังวล และความเครียด ซึ่งบางคนเข้าใจผิดว่ากัญชาไม่เป็นอันตรายเพราะมาจากพืช แต่ที่จริงแล้วการใช้กัญชาในขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกได้ค่ะ เนื่องจากสารเคมีในกัญชา โดยเฉพาะ THC ที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา สามารถผ่านจากรกไปยังลูกในครรภ์ได้
ผลกระทบต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- ระดับออกซิเจนในร่างกายลดลง เสี่ยงต่อปัญหาการหายใจ
- อาจมีอาการเวียนหัว เสี่ยงต่อการลื่นล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ
- ภาวะความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์
ผลกระทบต่อทารกในครรภ์
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก
- การตายคลอด (เด็กคลอดออกมาแล้วไม่มีสัญญาณชีวิต)
- ภาวะทารกน้ำหนักน้อย
- เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- กระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
- เพิ่มอัตราเสี่ยงของเด็กต่อการเข้ารับรักษาในหน่วยวิกฤตทารกแรกเกิด
- บางรายงานพบว่าการใช้กัญชาร่วมกับการสูบบุหรี่มีผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
- การพัฒนาสมองของทารกไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้มีปัญหาการเรียนรู้และพฤติกรรมในอนาคต
แม่ท้องกับการสูบ "กัญชา"
ควันกัญชาก็เป็นอีกหนึ่งอันตรายที่แม่ท้องไม่ควรเข้าใกล้ เพราะสารพิษในควันจะเข้าไปทำลายปอดและส่งผลกระทบต่อตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ โดยการสูบกัญชาขณะตั้งครรภ์จะเพิ่มระดับคาร์บอนมอนออกไซด์ในเลือด แต่ลดปริมาณออกซิเจนที่ทารกกำลังพัฒนาจะได้รับ ซึ่งส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของทารก
ไม่ใช่แค่นั้นนะคะ การหายใจสูดรับควันกัญชาหรือสูบกัญชามือสองก็อาจมีอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยได้เช่นกัน
การใช้ "กัญชา" มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่?
สารเคมีจากกัญชาสามารถส่งผ่านไปยังทารกได้ทางน้ำนมแม่ ซึ่งสาร THC ในกัญชา ถูกเก็บไว้ในไขมันในร่างกายและถูกปล่อยออกมาอย่างช้าๆ หมายความว่าทารกยังคงได้รับสาร THC ถึงแม้จะหยุดใช้กัญชาแล้วก็ตามค่ะ
ยังมีรายงานอีกว่า กัญชาอาจส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณน้ำนมแม่ จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ากัญชาสามารถยับยั้งการหลั่งน้ำนมได้ โดยการยับยั้งการผลิตโปรแลคติน และส่งผลโดยตรงต่อต่อมน้ำนมแม่ ซึ่งมีความเสี่ยงในการผลิตน้ำนม
เด็กทารกที่เกิดจากแม่ที่ใช้ 'กัญชา' ร่วมกับการ 'สูบบุหรี่' ในระหว่างตั้งครรภ์จะมีผลกระทบอย่างไร?
ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบ Hypothalamus-pituitary-adrenal ซึ่งส่งผลเสียต่อเด็กในระยะยาว เช่น เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด อัตราการเผาผลาญอาหารไม่ดี ระบบภูมิคุ้มกันพร่อง รวมถึงการพัฒนาทางระบบประสาทไม่สมบูรณ์ และยังมี "ภาวะพิษ" ที่เกิดจากการเสพกัญชา ซึ่งมีอาการดังนี้
- เกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
- เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ
- เกิดความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด
- เกิดความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์
- เกิดความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ
- เกิดความผิดปกติของระบบประสาท
- เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร
โดยทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศข้อห้ามใช้กัญชาทางการแพทย์ หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีสาร THC เป็นส่วนประกอบในกลุ่มของแม่ตั้งครรภ์ แม่ให้นมบุตร แม่ๆ ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ และในวัยเจริญพันธุ์ เนื่องจากอาจเกิดความเสี่ยงร้ายแรงได้ค่ะ
ข้อแนะนำคุณแม่ตั้งครรภ์กับการใช้กัญชา
แน่นอนว่าผลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้กัญชาในสตรีตั้งครรภ์ยังคงมีความไม่ชัดเจน และงานวิจัยที่มารองรับก็ยังมีปริมาณน้อย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย มีคำแนะนำถึงบุคลากรทางการแพทย์ให้คัดกรองและอธิบายเกี่ยวกับการใช้กัญชาต่อกลุ่มแม่ตั้งครรภ์ ดังนี้
- ก่อนตั้งครรภ์หรือช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ควรสอบถามสตรีตั้งครรภ์ทุกคนถึงการใช้กัญชา, บุหรี่, สุรา รวมถึงยาอื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้ในทางการรักษาด้วย
- หากพบว่ามีการใช้กัญชา ควรแนะนำว่าจะส่งผลเสียต่อทารกและการตั้งครรภ์อย่างไรบ้าง
- หากเป็นผู้ที่พยายามจะตั้งครรภ์ ให้หยุดการใช้กัญชาและสารเหล่านี้ก่อน
- หากเคยใช้กัญชาในฐานะเป็นยาตามความเข้าใจเดิม ให้งดใช้กัญชาแล้วเลือกใช้ยาตัวอื่นแทนก่อน
- มีข้อมูลน้อยเกี่ยวกับกัญชาในน้ำนมแม่ อย่างไรก็ตาม ให้งดการใช้กัญชาไปก่อนน่าจะส่งผลดีต่อเด็กมากกว่า
และอย่างไรก็ตาม คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่หรือให้นมลูกอยู่ทุกๆ ท่าน ควรหลีกเลี่ยงการใช้กัญชาอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากสามารถเกิดอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ ลูกน้อยหลังคลอด หรือตัวคุณแม่เองนะคะ และอย่าลืมระมัดระวังตัวในการรับประทานอาหารตามร้านอาหารที่อาจใช้ กัญชา เป็นส่วนผสมในการทำอาหารด้วยค่ะ