ระวัง! โรคฝีดาษลิง ภัยอันตรายของลูกน้อย
ตุ่มขนาดเล็กที่ขึ้นตามร่างกายของลูกน้อย คุณพ่อ คุณแม่อาจจะคิดว่ามันคือ "โรคอีสุกอีใส" ให้ลูกดื่มน้ำมากๆ นอนเยอะๆ ไม่นานเดี๋ยวก็หายเอง แต่ความจริงแล้วมันอาจเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "โรคฝีดาษลิง" ก็เป็นได้นะคะ
"โรคฝีดาษลิง" คืออะไร?
โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2501 ในแถบประเทศแอฟริกาต่างๆ ซึ่งเป็นบริเวณใกล้ป่าดิบชื้น ในปัจจุบันโรคฝีดาษลิงกำลังแพร่กระจายอย่างมากในประเทศแถบแอฟริกาและยุโรปบางประเทศ เช่น สเปน โปรตุเกส เยอรมนี อิตาลี รวมทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย การเดินทางข้ามประเทศอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการติดต่อโรคฝีดาษลิง
คุณพ่อ คุณแม่อาจเคยได้ยินชื่อของโรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษกันมาบ้างแล้ว แต่ "โรคฝีดาษลิง" เป็นคนละชนิดกับโรคฝีดาษปกติ แต่มีเชื้อโรคมาจากตระกูลเดียวกันค่ะ
โรคฝีดาษลิง แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์
- สายพันธุ์แอฟริกากลาง มีความรุนแรงมาก อาจถึงขั้นเสียชีวิต
- สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลางมาก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ ณ ขณะนี้
การแพร่เชื้อของ "โรคฝีดาษลิง"
ติดต่อจากคนสู่คน
- สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยทางสารคัดหลั่ง จากผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรือละอองฝอยจากการหายใจ
- มีอาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์
- ส่วนใหญ่หายจากโรคเองได้ อาการรุนแรงมักพบในเด็ก ขึ้นกับปริมาณไวรัสที่ได้รับ
ติดต่อจากสัตว์สู่คน
- ถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือข่วน
- สัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ติดเชื้อ
- กินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อ และปรุงสุกไม่เพียงพอ
อาการที่พบของ "โรคฝีดาษลิง"
จะเริ่มมีอาการประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ ซึ่งเด็กที่ป่วยจะมีอาการดังนี้
- มีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว เจ็บคอ อ่อนเพลีย
- ผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัว ภายใน 1-3 วัน
- ตุ่มหรือต่อมน้ำเหลือง
โรคฝีดาษลิง จะคล้ายกับอาการไข้ทั่วไปเลย แตกต่างกันตรงที่โรคฝีดาษลิงจะมีตุ่มหรือต่อมน้ำเหลืองบวมขึ้นมาทั่วร่างกาย มักลุกลามขึ้นเมื่ออาการไข้เบาลงเล็กน้อย โดยเริ่มจากใบหน้าก่อน แล้วกระจายสู่ส่วนอื่นๆ ทั่วร่างกายของเด็ก โดยเฉพาะบริเวณมือและเท้า ตุ่มที่ขึ้นนั้นจะทำให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกคันและระคายเคืองอย่างรุนแรง หากเกาก็จะกลายเป็นสะเก็ดหลุดออกมา ซึ่งจะทำให้เกิดแผล และรอยแผลเป็นตามมาได้นะคะ
หากลูกน้อย หรือคุณพ่อ คุณแม่ เริ่มมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ เฝ้าระวังอาการ และรักษาอย่างตรงจุดค่ะ
โรคฝีดาษลิง อันตรายต่อเด็กหรือไม่?
ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการรุนแรง และสามารถหายเองได้ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ แต่สำหรับเด็กเล็กที่ร่างกายยังต้องการภูมิคุ้มกันในการป้องกันเชื้อโรคอย่างมาก โรคนี้ก็ยังถือว่าเป็นอันตรายสำหรับเด็กอยู่นะคะ จากสถิติแล้วโรคฝีดาษลิงจะเกิดอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดในกลุ่มเด็กเล็กถึง 10% เลยนะคะ โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 1 ขวบ มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ปอดอักเสบ และอาจเสียชีวิตได้
วิธีป้องกัน "โรคฝีดาษลิง"
ณ ตอนนี้ ยังไม่มีหลักฐานการรักษาที่พิสูจน์ว่าปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคฝีดาษลิงได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อ คุณแม่ต้องใส่ใจและเฝ้าระวัง ดังนี้
- ไม่ให้ลูกสัมผัสกับสัตว์ตามท้องถนน เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าสัตว์เหล่านั้นป่วย หรือมีอาการโรคฝีดาษลิงหรือไม่ค่ะ
- ฉีดวัคซีนทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงให้กับเด็กๆ ได้ถึงร้อยละ 85%
- รับประทานอาหารที่สุก เพื่อผ่านกระบวนการชะล้างสิ่งสกปรกและเชื้อโรค
- รักษาความสะอาด ล้างมือด้วยสบู่ เจลแอลกอฮอล์ ทุกครั้งหลังจากสัมผัสสิ่งของสาธารณะ
ปัจจุบันบ้านเรายังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง แต่ก็เป็นช่วงที่เริ่มให้มี "การเดินทาง" ข้ามประเทศ ทางกรมควบคุมโรค ได้ประกาศตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข เพื่อเฝ้าระวัง และคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศไว้เรียบร้อยแล้วค่ะ
การรู้จักป้องกันตัวเองและลูกน้อยจากโรคฝีดาษลิง ถือเป็นสิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่ทุกคนควรรู้และเตรียมรับมือ เพื่อสุขภาพร่างกายที่ดีของคนในครอบครัวนะคะ