การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนสน

mombieclub
การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือคนรัก ล้วนเป็นสิ่งที่ยากจะเผชิญซึ่งอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวด และเศร้าโศกเป็นอย่างมาก โดยบางคนต้องใช้ระยะเวลานานในการทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมการเรียนรู้ในเรื่องนี้ให้กับลูกน้อย เพื่อที่จะได้ข้ามผ่านความสูญเสีย ยอมรับความจริงได้ อีกทั้งยังช่วยให้ตัวเองได้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ และสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติค่ะ

หลายคนต้องเผชิญหน้ากับความเศร้าจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่รับมือได้ยากสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับเด็กๆ ที่ต้องรับมือกับสถานการณ์นี้เป็นครั้งแรกในช่วงชีวิตวัยเยาว์

การสูญเสียและความเศร้าโศก?

การสูญเสียและความเศร้า ถือเป็นประสบการณ์เชิงจิตวิทยาที่ส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างมากต่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาจทำให้เกิดความรู้สึกปั่นป่วน สับสน บ่อยครั้งมักพบอาการซึมเศร้าร่วมด้วย

คำว่า "สูญเสีย" (Loss) ใช้เพื่อบรรยายถึงการสูญเสียสิ่งต่างๆ ที่อาจหวนคืนกลับมาได้ เช่น วิถีชีวิตเดิมก่อนเกิดโรคระบาด ส่วนคำว่า "ความเศร้าโศก" (Grief) ใช้อธิบายสิ่งที่ไม่อาจหวนคืนกลับมาได้อีก เช่น ความตายของบุคคลอันเป็นที่รัก ในทางจิตวิทยาสองสิ่งนี้มีความแตกต่างกัน เพราะนอกจากจะต้องยอมรับว่าบุคคลนั้นได้จากไปแล้ว ยังมีสิ่งที่ยากกว่าคือ การทำใจยอมรับว่าพวกเขาจะไม่มีวันกลับมาอีก กล่าวโดย ดร. ลิซ่า ดามัวร์ (Dr. Lisa Damour) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา

ความรู้สึกสูญเสียและเศร้าโศกของเด็กต่างจากผู้ใหญ่อย่างไร?

เด็กเล็กหลายคนอาจสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสียหรือความเศร้า เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบอาจไม่เข้าใจว่า ทำไมพวกเขาถึงไม่ได้ไปโรงเรียน ทำไมพ่อแม่ถึงอยู่บ้าน ในกรณีที่มีคนเสียชีวิต พวกเขาอาจไม่เข้าใจจริงๆ ว่าความตายคืออะไร ทำไมความตายนั้นถาวร ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เด็กเล็กๆ ไม่ได้แค่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาต้องรับมือกับความไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ขึ้นด้วย และอะไรคือสาเหตุของสิ่งเหล่านี้

แนวทางรับมือความสูญเสียและความเศร้าโศกที่เกิดขึ้น

วิธีเผชิญความสูญเสียและการแสดงออกถึงความเจ็บปวดเสียใจของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป แต่การปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้ อาจช่วยให้ปรับตัวและก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากในช่วงหนึ่งของชีวิตนี้ได้ค่ะ

1. สำหรับเด็กเล็กและเด็กอนุบาล
เป็นวัยที่ยังไม่สามารถแยกได้ถึงการมีชีวิตอยู่และการเสียชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กวัยนี้จะถามถึงหรือพูดถึงบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งผู้ใหญ่ที่ดูแลสามารถช่วยให้เด็กวัยนี้ผ่านพ้นเรื่องนี้ไปได้ ด้วยการใช้คำอธิบายแบบง่ายๆ ให้เข้าใจว่าคนที่เสียชีวิตไปแล้วไม่สามารถทำอะไรบางอย่างที่เคยทำได้ แต่เราสามารถเก็บสิ่งของบางอย่างแทนความรู้สึกได้ เช่น การนอนกอดหมอน ซึ่งผู้ใหญ่ที่ดูแลสามารถทำร่วมกับเด็กเพื่อให้เขาผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ค่ะ

2. สำหรับเด็กวัยรุ่น
ในกลุ่มวัยรุ่นอารมณ์มีผลอย่างมากสำหรับเด็กในวัยนี้ ผู้ใหญ่ต้องทำให้เด็กเข้าใจก่อนว่า ความเศร้าเสียใจเป็นอารมณ์ปกติที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้เสียชีวิตเป็นคนที่เรารัก หรืออาจจะมีบางช่วงที่เราไม่ได้เศร้า หรือไม่ได้นึกถึงผู้ที่เสียชีวิตตลอดเวลา ก็ถือเป็นเรื่องปกติเช่นกัน พ่อแม่สามารถให้คำแนะนำได้ ให้โอกาสเด็กได้พูดคุย ระบายความรู้สึก พร้อมทั้งให้ความเชื่อมั่นเรื่องอนาคตของเขาว่าจะผ่านเรื่องเหล่านี้ไปได้

เคล็ดลับ! ที่จะช่วยให้ง่ายขึ้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้ลูกฟัง

"สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา จริงใจ และไม่โกหก ไม่ว่าเด็กจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม"

หากลูกอายุต่ำกว่า 5 ปี คุณพ่อคุณแม่พูดตรงๆ โดยให้คำอธิบายที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายที่สุดกับลูก หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดเปรียบเทียบ หรือการใช้คำสละสลวยเกินไป เราอาจไม่สามารถบอกลูกๆ ว่าเราสูญเสียใครบางคนไป เพราะลูกไม่รู้ว่าสูญเสียแปลว่าอะไร คำว่าสูญเสียเป็นคำศัพท์ที่ยากเกินความเข้าใจของพวกเขา แต่เราสามารถอธิบายด้วยน้ำเสียงที่อบอุ่นและอ่อนโยน เช่น "ลูกๆ วันนี้แม่มีข่าวร้ายจะมาบอก คุณตาคุณยายของพวกเราเสียชีวิตแล้วนะ เพราะร่างกายของคุณตาคุณยายหยุดทำงาน พวกเราจะไม่ได้เจอคุณตาคุณยายกันอีกแล้วนะลูกๆ" การอธิบายในลักษณะดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ปกครอง เพราะเป็นการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา แต่การพูดอย่างตรงไปตรงมากับลูกถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสำหรับเด็กการจัดการกับความรู้สึกเมื่อมีการตายของคนที่รักเกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว และจะยากยิ่งขึ้นหากเราทำให้เขาสับสนว่าเกิดอะไรขึ้นค่ะ

หากทำตามวิธีต่างๆ แล้วลูกๆ ยังรู้สึกเจ็บปวดและเศร้าเสียใจ ควรปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต เพื่อรับการปรึกษาจากทีมผู้เชี่ยวชาญ และหาแนวทางที่ช่วยให้สามารถกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

อ้างอิง : Unicef Thailand, โรงพยาบาลมนารมย์
0


Please Login to CommentLog In