ทำอย่างไรดี? "ลูกน้อยตาแฉะ น้ำตาไหล" มีการสะสมของขี้ตาจำนวนมาก ทั

mombieclub
ทำอย่างไรดี? "ลูกน้อยตาแฉะ น้ำตาไหล" มีการสะสมของขี้ตาจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ไม่ได้ร้องไห้ คุณพ่อ คุณแม่คงกังวลใจไม่น้อย เรามารู้ถึงสาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้เกิดอาการตาแฉะ หรือที่เราเรียกกันว่า "ภาวะท่อน้ำตาอุดตัน" และวิธีดูแลดวงตาให้กับลูกรักกันดีกว่าค่ะ

ภาวะท่อน้ำตาอุดตันคือ?

เป็นภาวะของการอุดตันในท่อน้ำตา ทำให้น้ำตาไม่สามารถระบายออกได้ จึงทำให้มีน้ำตาไหลหรือน้ำตาคลอตลอดเวลา หากรุนแรงก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรืออักเสบได้ค่ะ ภาวะนี้พบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้ใหญ่

สาเหตุที่ทำให้ลูกน้อย "ตาแฉะ"

น้ำตาของคนเราจะถูกสร้างขึ้นจากต่อมน้ำตา และถูกการระบายออกผ่านทางบริเวณหัวตา โพรงจมูก จนลงสู่ลำคอ ซึ่งกับทารกก็เหมือนกันค่ะ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ท่อน้ำตาที่เชื่อมต่อระหว่างตากับโพรงจมูกของทารกอุดตันขึ้นจากการขัดขวางด้วยพังผืดบางๆ ปิดกั้นบริเวณรูทางออกท่อน้ำตาเอาไว้ อาจสามารถส่งผลให้น้ำตานี้ไหลย้อนกลับมาจนเอ่อล้นออกทางหัวตามากกว่าเดิม และเกิดอาการตาแฉะขึ้นได้ค่ะ

และนอกจากสาเหตุหลักแล้ว หากลูกน้อยของคุณแม่มีการติดเชื้อของแบคทีเรียเพิ่มเติม ก็อาจจะทำให้ดวงตาของทารกนั้นเกิดการอักเสบ พร้อมมีหนองบริเวณหัวตาร่วมด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ภาวะนี้อาจพบบ่อยในทารกช่วงอายุ 2-3 เดือนแรกหลังคลอด และมักเกิดขึ้นกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียวค่ะ

อาการตาแฉะสังเกตได้โดย...

・มีน้ำตาคลอตลอดเวลา
・ตาของทารกแฉะมากกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด โดยไม่มีการร้องไห้มาก่อน
・ลูกน้อยมีการสะสมของขี้ตาจำนวนมาก
・ขี้ตาของทารกมีสีเหลือง และสีเขียว
・มีสิ่งแปลมปลอมภายในดวงตา

หากคุณพ่อ คุณแม่พบว่าลูกน้อยมีอาการข้างต้น หรืออาการอื่นๆ ที่สื่อถึงความผิดปกติขึ้น ควรพาเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการรักษาในทันที ก่อนที่จะเกิดอันตรายแทรกซ้อนรุนแรงแก่ลูกน้อยของคุณได้ในอนาคตค่ะ

วิธีดูแลเบื้องต้นเมื่อ "ลูกน้อยตาแฉะ"

คุณพ่อ คุณแม่สามารถรักษาอาการตาแฉะของลูกน้อยได้โดยการใช้สำลี หรือผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดคราบขี้ตารอบๆ และอาจใช้วิธีการนวดตาให้แก่ลูกน้อยอย่างเบามือ เพื่อบรรเทาอาการตาแฉะเบื้องต้น ซึ่งทำตามขั้นตอนได้ ดังนี้ค่ะ

1. นำนิ้วชี้มาวางแนบระหว่างหัวตากับสันจมูกด้วยแรงเบาจนสัมผัสถึงเส้นเอ็นแข็งๆ

2. ใช้นิ้ววนลงมาเป็นวงกลมลากลงไปตามสันข้างจมูก

3. นวดวนไปเรื่อยๆ วันละ 4 รอบ หรือช่วงเวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน เพื่อให้เกิดแรงดันไปเปิดปาก ทางท่อน้ำตา

เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี 90 % การนวดตามขั้นตอนข้างต้นอาจส่งผลให้เกิดแรงดันทำให้เนื้อเยื่อมีการทะลุเปิดออกได้ดีกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะ

แต่หากการนวดไม่ได้ผล หรือลูกน้อยมีอาการไม่ดีขึ้น โปรดเข้าขอรับการปรึกษาจากแพทย์ได้ในเบื้องต้น เพื่อให้แพทย์วิเคราะห์หาเทคนิคการรักษาเหมาะสม ซึ่งอาจเป็นการใช้การผ่าตัดใส่ท่อระบายท่อน้ำตาทดแทนค่ะ
0


Please Login to CommentLog In