ภาวะท้องแข็ง

Dr.Sura
ภาวะท้องแข็ง
ในความหมายของแพทย์ หมายถึง มดลูกแข็งตัว มดลูกแข็งตัวจะสามารถรู้สึกได้ที่บริเวณหน้าท้อง โดยจะรู้สึกตึงที่ท้องบริเวณมดลูก การบีบตัวของมดลูกไม่ควรเกิดขึ้นตอนที่อายุครรภ์ยังไ่ม่ครบกำหนด ถ้าเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่อายุครรภ์ไม่ครบกำหนด จะเรียกว่า การเจ็บท้องก่อนกำหนด แต่ถ้าแข็งแค่ด้านใดด้านหนึ่งไม่ทั้งมดลูกนั่นคือ เด็กในครรภ์แค่มีการดันตัวไม่ใช่การเจ็บครรภ์

คุณแม่ตั้งครรภ์มีภาวะมดลูกบีบตัวก่อนครบกำหนด หรือก่อน 37 สัปดาห์ อาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่ 20-36 สัปดาห์ ก็จะถือเป็นการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด

การเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดมีความสำคัญ เพราะว่าถ้าเกิดขึ้นแล้ว กรณีที่ไม่สามารถยั้บยั้งได้ ก็จะเกิดการคลอดก่อนกำหนด เด็กที่คลอดก่อนกำหนด จะมีปัญหาในเรื่องของน้ำหนักตัวน้อย ความพร้อมในการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด หัวใจ ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ ก็จะทำงานได้ไม่ดี จะมีปัญหาตามมาในการเจริญเติบโตในอนาคต หรือยิ่งอายุครรภ์น้อยแล้วคลอด ก็จะมีปัญหามากขึ้นไปเรื่อยๆ

การเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด โดยส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจาก 2 อย่าง
1. เกิดจากการสะเทือน เช่น อาจจะนั่งรถบ่อย เดิน ออกกำลังกายมากเกินไป เกิดอุบัติเหตุ รถชนหรือว่าตกบันได พอเกิดการสะเทือนขึ้นมา มดลูกจะถูกกระตุ้นให้เกิดการบีบตัวขึ้น

2. เกิดจากการไม่สบาย ติดเชื้อต่างๆ เช่น ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือเป็นไข้สูง ก็จะกระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์มากขึ้น อยู่ๆ มีอาการท้องแข็งบ่อย

สิ่งที่ควรทำ…หากเกิดอาการเหล่านี้
1. ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่าเป็นการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริง คุณหมอจะให้ยาเพื่อยับยั้งการที่มดลูกหดรัดตัว พยายามไม่ให้บีบตัว

2. แนะนำให้คุณแม่ ไม่เคลื่อนที่มาก ลดการสั่นสะเทือน เพื่อลดปัจจัยการสะเทือนลง อาจจะให้พักผ่อนอยู่บ้าน ลางาน และพยายามรักษาอายุครรภ์ให้มากที่สุด

3. ในบางรายที่มีการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดที่รุนแรง ก็อาจจะต้อง admit ที่โรงพยาบาลเพื่อให้ยาห้ามมดลูกหดรัดตัวทางน้ำเกลือ ยาฆ่าเชื้อ รวมถึงอาจจะต้องให้ยากระตุ้นปอดเด็กในครรภ์ เพราะว่า ถ้าเผอิญห้ามไม่ได้ แล้วเด็กจำเป็นต้องคลอด เด็กจะมีปัญหาเรื่องปอด เพราะฉะนั้นทางการแพทย์ จะมียาฉีด เพื่อกระตุ้น ให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น

กรณีที่คุณแม่เคยมีภาวะเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดในท้องครั้งก่อน ท้องต่อไปก็จะมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น คนที่เคยมีประวัติเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด พอตั้งครรภ์ใหม่ ควรจะแจ้งให้หมอทราบ เพื่อให้คุณหมอได้วางแผนร่วมกับคุณแม่ เฝ้าระวังตัวเองมากขึ้นเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น
0


Please Login to CommentLog In