คุณพ่อมือใหม่: เคล็ดลับ ที่ไม่ลับที่ควรรู้
5 เคล็ดลับ ที่ไม่ลับ คุณพ่อมือใหม่ ควรรู้
ถ้าหากคุณกำลังจะกลายเป็นคุณพ่อมือใหม่ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ รู้ไหมว่าคุณควรต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง การมีสมาชิกตัวน้อยๆ เพิ่มขึ้นมาให้ดูแลมันเหมือนกับการได้ก้าวเข้าสู่โลกอีกใบเลยค่ะ
เมื่อถึงเวลาเจ้าตัวน้อยออกมาดูโลกจริงๆ อาจจะยุ่งจนหัวหมุนได้เลยนะคะ สำหรับคุณสามีที่กำลังมีบทบาทเพิ่มด้วยตำแหน่งว่าที่คุณพ่อลองมาศึกษากันดีกว่า ว่าเรื่องที่คุณพ่อควรรู้และเตรียมตัวไว้นั้น มีอะไรบ้าง
เรื่องการมีเพศสัมพันธ์กับคุณภรรยา
คุณแม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงระยะใกล้คลอด "หากไม่มีอาการผิดปกติของการตั้งครรภ์หรืออยู่ในกลุ่มของการตั้งครรภ์เสี่ยง" จะมีบางช่วงเวลาเท่านั้นที่ควรลดการมีเพศสัมพันธ์ลง คือ ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ กับอีกช่วงคือช่วงหนึ่งเดือนก่อนคลอด ที่สรีระของคุณแม่ไม่อำนวย ท้องโต เคลื่อนไหวลำบาก เหนื่อยง่าย การมีเพศสัมพันธ์ช่วงนี้คงไม่เหมาะเท่าไหร่ค่ะ
การมีส่วนร่วมของคุณพ่อในห้องคลอด
ว่าที่คุณพ่อหลาย ๆคน ตกลงที่จะเข้าไปร่วมดูนาทีที่ลูกน้อยได้ออกมาดูโลก แต่ต้องบอกก่อนว่ามันอาจไม่ได้ราบรื่นเหมือนกับที่คุณพ่อได้เห็นในหนังหรือว่าในโฆษณานะคะ บรรยากาศในห้องคลอดตอนนั้นเต็มไปด้วยหมอ พยาบาล และความวุ่นวาย แถมคุณพยาบาลก็มักชักชวนให้คุณพ่อเข้ามามีส่วนร่วมในการทำคลอด หากคุณรู้สึกไม่พร้อมกับการได้เห็นเลือดในสถานการณ์เช่นนี้ ก็สามารถบอกปฏิเสธการเข้าไปมีส่วนร่วมในห้องคลอดได้ หรือแค่อยู่ข้างเตียงบีบมือคอยให้กำลังใจภรรยาก็พอค่ะ
ควรระวังภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของคุณแม่
คุณแม่บางรายอาจประสบภาวะเครียดและซึมเศร้าหลังคลอดบุตร ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ คุณพ่อควรศึกษาการรับมือกับอาการนี้ของภรรยาล่วงหน้าก่อนคลอดบุตรด้วย และหากเธอมีอาการเครียดมากควรพาเธอไปพบแพทย์จะดีที่สุดค่ะ
เตรียมตัวจัดการกับของใช้ลูกน้อยที่อาจจะเพิ่มขึ้น
หลังลูกน้อยของคุณเกิดได้ไม่นานรับรองเลยว่า พื้นที่ในบ้านของคุณจะต้องเต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้สำหรับทารก เริ่มตั้งแต่ คาร์ซีท และไม่ว่าจะเป็นบรรดาเสื้อผ้า ผ้าอ้อม ขวดนม ที่อุ่นขวดนม รถเข็นเด็ก รถหัดเดิน ฯลฯ ก่อนลูกน้อยเกิดควรจัดพื้นที่สำหรับจัดเก็บสิ่งของเหล่านี้ให้พร้อมก่อนนะคะ
ช่วยคุณแม่เรื่องการดูแลลูกน้อย
เช่น การเลี้ยงลูกด้วย นมแม่ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารก แต่คุณแม่หลาย ๆ คนอาจมีปัญหากับเรื่องการให้นมบุตร ช่วงนี้คุณแม่มักมีอารมณ์หงุดหงิดได้ง่าย คุณพ่อเองแม้ไม่สามารถให้นมลูกแทนได้ แต่สามารถแสดงออกถึงความเป็นห่วงและเอาใจใส่คุณแม่ได้ ด้วยการหาอาหารบำรุงน้ำนมให้ และพาเธอไปพบกุมารแพทย์ ซึ่งจะให้คำแนะนำและช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการให้นมบุตรได้นะคะ
หรือจะในเรื่องการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้กับลูก ไม่ง่ายนักที่จะต้องใส่ผ้าอ้อมให้กับเจ้าตัวน้อยที่มักไม่ค่อยให้ความร่วมมือเท่าไหร่ แต่มันก็เป็นเรื่องที่คุณพ่อทำได้เพื่อช่วยแบ่งเบาความเหน็ดเหนื่อยของคุณแม่ค่ะ
ท้ายที่สุดแล้ว...คุณพ่อต้องหมั่นสร้างกำลังใจให้ตัวเองและคุณแม่ในการดูแลเจ้าตัวเล็กแบบไม่ต้องเครียด เพราะยิ่งคุณพ่อคุณแม่อารมณ์ดีเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ลูกสัมผัสถึงความสุขได้มากเท่านั้นค่ะ