เลือกขวดนมเด็กอย่างไรดี? ให้ปลอดภัยต่อลูกน้อย
ไม่ใช่แค่ นมแม่ จากเต้าของคุณแม่ที่สำคัญ การเลือกขวดนมให้ลูกน้อยของคุณก็สำคัญเช่นกัน ซึ่งการเลือกขวดนมเด็กแรกเกิดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยใช่ไหมคะ มีทั้งขนาด วัสดุที่ใช้ ราคา และยังมีอีกหลายแบรนด์ให้เลือกใช้ ซึ่งการใช้ขวดนมก็เป็นส่วนจำเป็นที่จะทำให้ลูกน้อยได้พัฒนา เพื่อต่อยอดไปสู่การดื่มนมจากแก้วหรือกล่องนั่นเองค่ะ และยังเพื่อให้คุณแม่ได้พักเต้าและมีเวลาทำอย่างอื่นได้มากขึ้น
ลูกน้อยสามารถใช้ขวดนมได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่?
สามารถให้ลูกเริ่มดื่มนมจากขวดนม (Bottle Feeding) ได้ทันทีหลังจากลูกเริ่มดูดนมจากเต้า แต่โดยทั่วไปควรให้เริ่มดูดนมจากขวดนมเด็ก หลังจากลูกมีอายุ 3-4 สัปดาห์ ก็เพราะว่าเด็กแรกเกิดยังต้องทำความคุ้นชินกับการดูดนม ต้องมีคุณแม่คอยดู คอยป้อนและทำให้ลูกรู้ว่าเขากำลังดูดนมอย่างปลอดภัย และอบอุ่นค่ะ
และการดูดนมจากเต้ายังเป็นการกระตุ้นน้ำนมให้กับคุณแม่ เพื่อร่างกายจะได้รับรู้และเร่งการผลิตน้ำนม เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของลูก ช่วยให้คุณแม่สามารถปั๊มนมสำรองไว้ได้มากเพื่อให้ลูกน้อยหัดดูดนมจากขวดนมอีกด้วย
แล้วลูกน้อยจะต้องดูดนมจากขวดนานแค่ไหนดี?
ในช่วงสัปดาห์แรกๆ คุณแม่ควรให้นมลูกปริมาณ 1-2 ออนซ์ เป็นประจำทุก 3-4 ชั่วโมง ลูกจะมีอาการงอแงบ้างเวลาหิว และจะนิ่งสงบเมื่อได้ดื่มนม ได้รับการกอด อุ้ม หรือลูบหลังเบาๆ
ในวัยแรกเกิดที่ลูกได้หัดดูดนมจากขวดแล้วนั้น สามารถให้ลูกคุ้นชินกับขวด กับการดูดนมได้เรื่อยๆ ควรให้ลูกใช้ขวดนมไปจนถึงอายุ 1 ขวบ หรือ อายุ 12 เดือน โดยเป็นการให้ดูดจากเต้า สลับกับให้ลูกดูดจากขวดนม ก่อนจะเริ่มหัดให้ลูกดื่มนมจากแก้วค่ะ
ขนาดขวดนมที่แนะนำในช่วงอายุต่างๆ
ลูกน้อยแต่ละช่วงวัยจะมีปริมาณนมที่ควรดื่มแตกต่างกัน โดยมีวิธีคำนวณง่ายๆ คือ ทุกๆ น้ำหนักตัว 0.5 กิโลกรัม ลูกควรดื่มนม 2.5 ออนซ์ (75 มิลลิลิตร) แต่สำหรับการเลือกขนาดขวดนมสามารถเลือกใช้ได้ดังนี้ค่ะ
วัยแรกเกิด จนถึง 6 เดือน
ควรใช้ขวดนมขนาด 4 ออนซ์ (120 มิลลิลิตร) เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในการดื่มนมแต่ละครั้ง ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป โดยจะให้นมลูกทุกๆ 4 ชั่วโมง
เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป
ควรเปลี่ยนขนาดขวดนมให้มีปริมาณ 7-8 ออนซ์ (240 มิลลิลิตร) เมื่อลูกมีน้ำหนักตัวมากขึ้น ก็ควรได้รับปริมาณน้ำนมที่มากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย
*แต่ข้อควรระวังคือ ลูกน้อยไม่ควรดื่มนมมากกว่า 32 ออนซ์ (320 มิลลิลิตร) ภายในเวลา 24 ชั่วโมง เพราะจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เกิดภาวะท้องอืดและไม่สบายตัวได้ค่ะ
ขวดนมมีกี่แบบ อะไรบ้าง?
ขวดนมเด็ก จะผลิตด้วยพลาสติกเพราะมีน้ำหนักเบา ราคาถูก หาซื้อได้ง่าย แต่ก็มีบางแบรนด์ที่จำหน่ายขวดนมแบบแก้ว ซึ่งราคาสูงกว่าแต่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า ในส่วนของขวดนมพลาสติกนั้น ก็มีความแตกต่างกันตามแต่ชนิดของวัสดุค่ะ ซึ่งแบ่งได้ดังนี้
1. ขวดนมพลาสติก PP (POLYPROPYLENE)
พลาสติก POLYPROPYLENE เป็นพลาสติกที่นิยมใช้กัน เพราะขึ้นรูปง่าย ทนทานต่อการขีดข่วนและแรงกระแทก โดยพลาสติกชนิดนี้จะทนต่ออุณหภูมิ -20 ˚C จนถึง 110 ˚C ขวดนมจากพลาสติก PP มีอายุการใช้งาน เฉลี่ย 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับการต้มฆ่าเชื้อ หากต้มบ่อยก็จะเสื่อมสภาพไวค่ะ
2. ขวดนมพลาสติก PES (POLYETHERSULFONE)
POLYETHERSULFONE หรือ PES เป็นพลาสติกที่มีความทนทานสูงจะมีสีชา สีน้ำผึ้ง โปร่งแสง สามารถทนต่ออุณหภูมิ -40 ˚C จนถึง 180 ˚C อายุการใช้งานนาน 6 เดือน - 1 ปี
3. ขวดนมพลาสติก PPSU (POLYPHENYLSULFONE)
พลาสติก POLYPHENYLSULFONE เป็นพลาสติกคุณภาพสูง เป็นสีน้ำตาลอ่อนตามธรรมชาติ มีคุณสมบัติไม่ดูดซับสี หรือ กลิ่น มีความทนทานสูงมาก ซึ่งสามารถทนความร้อนสูงสุดได้ถึง 260˚C ทนทานต่อการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน และ ไม่ดูดซับความร้อนไว้อีกด้วย โดยทั่วมีอายุการใช้งาน 1-2 ปี ค่ะ
ก่อนที่คุณแม่จะเลือกซื้อขวดนมหรือของเล่นของลูกน้อย ให้เลือกขวดนมเด็กที่ผลิตจากพลาสติก 3 ชนิดข้างต้น ก็จะปลอดภัยกว่าเพราะเป็นพลาสติกรุ่นใหม่ไม่มี BPA และอย่าลืมตรวจสอบสัญลักษณ์ BPA Free ก่อนซื้อ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีสาร BPA แน่นอนค่ะ
*BPA หรือ Bisphenol A คือสารประกอบที่นำมาใช้ในการผลิตพลาสติกให้คุณสมบัติโปร่งใสและแข็งแรงทนทานขึ้น ข้อเสียคือเป็นสารก่อมะเร็งที่อันตรายต่อรางกาย ซึ่งไม่เหมาะกับวัสดุที่ใช้สำหรับใส่อาหาร
ขั้นตอนทำความสะอาดขวดนมเด็ก และแปรงล้างขวดนมเด็ก
ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค จากนั้นเช็ดให้แห้งแยกส่วนประกอบของขวดนม ทั้งขวด และจุกนม ออกจากกัน ตรวจสอบบริเวณจุกนมว่ามีรอยร้าวหรือรั่วไหม ถ้ามีให้ทิ้งทันทีเพราะจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ล้างขวดนมเด็ก จุกนม ในน้ำอุ่นผสมสบู่อ่อนขัดด้วยแปรงล้างขวด ทั้งด้านใน ด้านนอก และ จุกนม โดยเน้นในส่วนของเกลียวฝาและจุกนม ให้ขัดละเอียดเพราะอาจมีแบคทีเรียสะสมบริเวณนี้ได้ฉีดน้ำให้ผ่านจุกนม โดยให้น้ำไหลผ่าน 2-3 รอบเปิดน้ำสะอาดไหลผ่านอุปกรณ์ทั้งหมด เช็ดให้แห้งและวางพักไว้
หากมีเชื้อโรคปะปน สะสมอยู่ อาจส่งผลให้เด็กเกิดอาการท้องเสียและทำให้ลูกไม่สบายได้ค่ะ และคุณแม่ควรเลือกอุปกรณ์สำหรับเก็บดูแลขวดนมลูกให้สะอาด และมิดชิด เพื่อป้องกันฝุ่นผงที่อาจไปเกาะในขวดนมด้วยนะคะ
เพราะขวดนมเด็กนั้น เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ชิ้นสำคัญการเลือกซื้อ และการเก็บรักษาจึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่ต้องใส่ใจทุกรายละเอียด ไม่น้อยไปกว่าการดูแลสุขภาพของลูกน้อยเลยค่ะ