ลูกร้องกลั้นจนหน้าเขียว สาเหตุเกิดมาจากอะไร?
ภาวะกลั้นหายใจในเด็ก หรือ Breath holding spells พบได้ 2-5% ในเด็กเล็ก ตั้งแต่ช่วงอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี และพบได้บ่อยในเด็กอายุ 1 ถึง 3 ปี เพราะเด็กมักมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอัตราการหายใจ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองกับความโกรธหรือเจ็บปวด เด็กมักกลั้นได้นานถึง 1 นาที (ส่วนใหญ่มักไม่เกิน10-20 วินาที)
"ร้องกลั้น" เกิดได้อย่างไร?
ทารกร้องกลั้นสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่เด็กมีความโกรธ ตกใจ หรือถูกขัดใจ จึงร้องไห้อย่างรุนแรง ตามด้วยการกลั้นหายใจจนทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจ (Apnea) และขาดออกซิเจน (Hypoxia) อาจตามด้วยการหมดสติ หรือแขนขากระตุก ซึ่งเป็นเพียงชั่วครู่ แล้วเด็กจะกลับมาหายใจปกติ
ร้องกลั้นมี 2 ประเภท
- Cyanotic Spells เด็กจะมีอาการร้องไห้อย่างรุนแรง และหยุดหายใจในขณะหายใจออก ทำให้เกิดการขาดออกซิเจนและหน้าเขียว เหตุกระตุ้น เกิดจากการถูกขัดใจ หรือโมโห โกรธอย่างรุนแรง
- Pallid Spells เด็กมักร้องไห้ไม่รุนแรง ไม่มีภาวะเขียวหรือขาดออกซิเจน แต่อาจมีอาการหน้าซีด เหตุกระตุ้นเกิดจากความกลัวหรือตกใจ
การดูแลและรักษา
- ในขณะที่มีอาการคุณพ่อคุณแม่ควรอุ้มลูกไว้ หรือให้นอนราบ เพื่อป้องกันการล้มศีรษะฟาดพื้น
- ควรหลีกเลี่ยงวิธีบังคับหรือขัดใจและเปลี่ยนเป็นใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจ โน้มน้าวหรือห้ามด้วยความนุ่มนวล และพ่อแม่ไม่ควรแสดงความตกใจเมื่อลูกแสดงอาการ
อย่างไรก็ดี คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่าลูกเป็นภาวะร้องกลั้นหรือลมชัก เพราะถ้าร้องกลั้นมักจะเป็นไม่เกิน 1- 2 นาที และหลังจากนั้นจะรู้สึกตัวดี แต่ถ้าภาวะลมชัก มักจะเป็นนานกว่า 1 นาที และลูกอาจไม่รู้สึกตัว
วิธีรับมือเมื่อลูก "ร้องกลั้น"
- หากเกิดอาการคุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติก่อนเป็นอันดับแรก
- อย่าใช้วิธีเขย่า ตี นอกจากจะไม่ทำให้ลูกหยุดร้องแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
- พยายามเบี่ยงเบนความสนใจของลูก
- สำรวจดูว่าลูกอมอะไรไว้ในปากขณะที่ร้องกลั้น เพราะอาจทำให้สำลักหรือติดคอ
- ทั้งคุณพ่อคุณแม่ และทุกคนในบ้านต้องปฏิบัติไปในทางเดียวกัน
ภาวะนี้มักพบในครอบครัวที่เลี้ยงดูลูกแบบค่อนข้างตามใจ ส่วนหนึ่งคุณพ่อคุณแม่มักตกใจกับอาการของลูกและตามใจ เมื่อลูกได้สิ่งที่ต้องการ ก็จะเริ่มเรียนรู้และทำครั้งต่อๆไป บางคนก็จะใช้วิธีร้องกลั้นเพื่อเรียกร้องความสนใจได้ค่ะ