เศร้า…..หลังคลอด???
คุณแม่เคยมีอารมณ์นี้เกิดขึ้นไหม???
รู้สึกเศร้า หดหู่ น้อยใจ ทุกข์ใจ ท้อแท้ เหนื่อยหน่าย นอนไม่หลับ ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล เป็นต้น
คุณแม่อยากทราบไหมว่า มีจำนวนคุณแม่ซึมเศร้าหลังคลอด อยู่มากแค่ไหน?
ประมาณร้อยละ 26 ของคุณแม่ทั่วๆ ไป มีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้ค่ะ ดังนั้น คุณแม่จะเห็นว่ามีคุณแม่ส่วนหนึ่งอาจจะ มีอาการเหล่านี้ได้เช่นกันค่ะ
คุณแม่อยากทราบไหมว่า คุณแม่เข้าข่ายการเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดหรือไม่?
ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมวันนี้ คุณแม่รู้สึก หดหู่ เศร้า หรือท้อแท้สิ้นหวัง หรือไม่
ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมวันนี้คุณแม่รู้สึก เบื่อ ทำอะไรก็ไม่เพลิดเพลิน หรือไม่
- ถ้าคำตอบ ไม่มี ทั้ง 2 คำถาม ถือ ว่า ปกติ ไม่เป็นโรคซึมเศร้า
- ถ้าคำตอบ มี ข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้อ (มีอาการใดๆ ในคำถามที่ 1 และ 2 ) หมายความว่าคุณแม่มีอาการที่มี โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้
อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งกังวลใจไปนะคะ หากคุณแม่ประเมินตนเองแล้วพบว่า มีความเสี่ยง เพราะ การที่คุณแม่ได้ทราบว่ามีอาการเหล่านั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการที่คุณแม่อาจจะต้องหันกลับมา "ดูแลใจ" ของคุณแม่กันนะคะ
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด กันสักหน่อยดีไหมคะ
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่สามารถพบได้ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ ถึง 1 ปีหลังคลอด โดย ช่วง 3-6 เดือนหลังคลอดเป็นระยะที่พบได้มากที่สุด
สาเหตุของการเกิดซึมเศร้าหลังคลอดมีหลายสาเหตุด้วยกันค่ะ
สาเหตุสำคัญที่สุดมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน แต่ก็มีอีกหลายปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้เช่นกันค่ะ ได้แก่
- ความเครียดที่มีตั้งแต่ระยะการตั้งครรภ์ถึงคลอด
- การไม่สามารถปรับตัวจากการเปลี่ยนผ่านบทบาทจากโสดมาสู่การเป็นแม่
ความไม่พร้อมในการตั้งครภ์ แม้แต่การเจ็บปวดในระยะคลอด เช่น การผ่าตัด (กลไกของร่างกาย) ความไม่ประสบความสำเร็จในการให้นมบุตรซึ่งทำให้แม่รู้สึกขาดความภาค
ภูมิใจในตนเองที่ไม่สามารถแสดงบทบาทการเป็นแม่ได้นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่งานวิจัยพบว่าส่งผลได้อีก เช่น ประสบการณ์ของการถูกทำร้ายจิตใจในวัยเด็ก หรือประสบการณ์การถูกทำร้ายจิตใจและร่างกายจากคู่สมรส เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาซึมเศร้าหลังคลอด สามารถแก้ไขและให้การช่วยเหลือได้ ถ้าทราบตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้น การประเมินตนเองด้วยการประเมินสองข้อง่ายๆ ข้างต้น จะช่วยให้คุณแม่ทราบว่า คุณแม่ต้องการการช่วยเหลือแล้วหรือยัง ถ้าประเมินแล้ว พบว่าคุณแม่ “เป็นผู้มีความเสี่ยง” หรือ “มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า” ขอให้พบกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการประเมินขั้นต่อไปและให้การช่วยเหลือนะคะ