วิธีรับมือกับเด็กที่ไม่พูดความจริง “ตามหลักพัฒนาการ”

วิธีรับมือกับเด็กที่ไม่พูดความจริง “ตามหลักพัฒนาการ”

1. พัฒนาการที่สมองเขายังไม่สามารถจะเชื่อมโยงข้อมูล เราไม่คาดหวังว่าลูกจะตอบได้ตรงคำถาม แต่เราต้องหันมาเป็นผู้ช่วยลูก ก็คือช่วยให้ลูกสามารถตอบได้ตรงกับความเป็นจริง พอเราฝึกไปเรื่อยๆ เด็กก็จะเติบโตขึ้น ซึ่งเราจะรู้ได้เองเลยค่ะว่าเมื่อไหร่ เราสามารถอ่านสัญญาณลูกได้เลยว่าเรื่องนี้เขาตอบไม่ได้

2. พัฒนาการเรื่องตอบตามจินตนาการ ไม่ใช่ความจริง เราต้องช่วยลูกแยกแยะว่าเรื่องไหนคือเรื่องจริงนะลูก เรื่องไหนคือจินตนาการ คล้ายๆ ข้อหนึ่ง เปลี่ยนจากความคาดหวังที่จะเอาข้อมูลจากลูก มาสอนลูกก่อนค่ะ

ซึ่งหมอจะบอกว่าเรื่องนี้ยากมากๆ เพราะพอเข้าโรงเรียน ส่วนใหญ่เด็กจะเข้าโรงเรียนตอนสามขวบ เด็กก็จะใช้เวลาที่โรงเรียนเยอะ พ่อแม่ก็จะคาดหวังว่าเด็กจะต้องเล่าเรื่องที่โรงเรียนโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ข้อมูลที่โรงเรียนเลย เราก็ช่วยลูกไม่ได้ มันเหมือนเราจะเป็นฝ่ายที่อยากรอรับข้อมูลจากลูก ซึ่งมันก็จะทําให้เด็กยิ่งไม่ได้รับการฝึกฝน

สิ่งที่หมอบอกได้ก็คือว่า ในเมื่อเราไม่รู้ข้อมูลที่โรงเรียนเลย แล้วเราก็มาฝึกจากสิ่งที่เรารู้ข้อมูลก่อน เช่น ตอนที่อยู่บ้านด้วยกันน่ะ ถามเรื่องเมื่อสักครู่ก็ได้ว่า “เมื่อกี้หนูออกไปข้างนอกทําอะไรกับแม่” หรือเสาร์อาทิตย์ที่เราอยู่กับเขา เราฝึกจากตรงนี้ก็ได้เหมือนกัน เด็กก็สามารถถูกฝึกให้แยกแยะได้ว่าอันนี้คือเรื่องจริงหรือเรื่องจินตนาการนะคะ ตรงนี้เขาก็สามารถไปใช้กับที่โรงเรียนได้ค่ะ

3. เรื่องของการโกหกเพราะว่ากลัวโดนทําโทษ เรื่องนี้พบได้ตามอายุก็จริงแต่ถ้าเกิดลูกโกหกถี่ เราต้องหันมามองตัวเองแล้วว่า เราจะสามารถทําอะไรได้มากกว่าการคิดบทลงโทษแบบใจเย็นไม่โมโหเขา พูดเพื่อให้เห็นภาพเป็นระบบแล้วก็มากขึ้นดีกว่านะคะ

วิธีรับมือกับเด็กที่ “ตั้งใจไม่พูดความจริง ไม่อยากโดนลงโทษ แล้วหลีกเลี่ยงการทําอะไรบางอย่าง”
(ในส่วนข้อ 1 กับ 2 จะต้องสลับกันใช้อย่างเหมาะสมด้วยนะคะ)

3.1 เลี้ยงยังไงให้ลดปริมาณการพูดโกหก หรือว่าลดไม่ให้ลูกเป็นเด็กติดนิสัยโกหก อันนี้เราจะต้องมองภาพรวมของการเลี้ยงดูค่ะ เพราะว่าถ้าเรามีเวลากับลูกเยอะมากพอ แล้วเราพูดคุยกันแบบที่เข้าใจกันและกันเราก็จะสนิทสนมกันดี เราไว้ใจลูก ลูกไว้ใจเรา โอกาสที่ลูกจะติดนิสัยโกหกมันจะน้อยมาก เพราะว่าเขาจะแคร์เรานะคะ เพราะฉะนั้นเราต้องหันกลับมาที่การเลี้ยงดูก่อนว่า

・เรามีเวลาคุณภาพกับลูกเยอะพอไหม คุณภาพก็หมายถึงเวลาที่เราอยู่กับลูกแล้วเราอยู่กับลูกจริงๆ อยู่ทั้งตัวอยู่ทั้งหัวใจ ทํากิจกิจกรรมกับลูก เล่นกับลูก หรือทํางานบ้านกับลูก เป็นช่วงเวลาที่เรากําลังทําความรู้จักลูก แล้วก็เป็นช่วงเวลาที่ลูกทําความรู้จักเราเหมือนกัน

・พ่อแม่ต้องนึกบทลงโทษกรณีที่ลูกทําพฤติกรรมอะไรผิดแบบซ้ำๆ เด็กมักจะโกหกกับเรื่องที่เขาน่าจะทําผิด เราจึงต้องคิดบทลงโทษที่สมควรไว้ให้กับลูกด้วยค่ะ ซึ่งการโกหกมันเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราวในเด็กทั่วไป แต่ก็ไม่ต้องไปตกใจนะคะ ในวันที่เราเห็นว่าลูกไม่โกหกบ่อยแล้ว แปลว่าเวลาคุณภาพที่เรามีให้ลูกผ่านแล้ว ทำให้ความรู้สึกที่ลูกจะโกหกแม่บ่อยๆ มันก็จะน้อยลง

3.2. ต้องช่วยลูกคิด แก้ปัญหาในเรื่องๆ นั้น แทนที่จะจ้องแต่การลงโทษ ชวนลูกมาคิดในการแก้ปัญหาของเรื่องๆ นั้น อย่างเช่นว่า ลูกไม่สวัสดีอากง อาม่าบ่อยๆ เราก็ลองชวนลูกคิดว่าเพราะอะไร “ลูกถึงไม่อยากสวัสดีล่ะ” แทนที่จะไปลงโทษลูก ทําให้เกิดสถานการณ์ที่เด็กรู้สึกว่าเขาแก้ปัญหาได้ไม่ใช่ปล่อยให้เขาไปแก้ปัญหาไม่ได้แล้วก็ลงโทษ ถ้าเราร่วมแก้ปัญหากับสิ่งที่เด็กเผชิญ เราจะสามารถลดการโกหกของเด็กไปเยอะได้เลยนะคะ

ส่วนกรณีหลีกเลี่ยงการทําการบ้าน เมื่อถามว่ามีการบ้านไหม แล้วลูกบอกว่าไม่มี เราก็ลองมาชวนลูกคิด แทนที่พอลูกไม่ทําการบ้านก็ลงโทษๆ แต่เรากลับมาชวนลูกคิดว่า “แม่สังเกตว่าช่วงนี้ลูกจะพูดว่าไม่มีการบ้านบ่อย แล้วจริงๆ คือมันมีการบ้าน แล้วลูกก็โดนลงโทษบ่อย แม่ก็เสียใจนะที่ลูกโดนลงโทษ แม่อยากจะมาช่วยลูกแก้ปัญหานะ เรามาช่วยกันคิดดีกว่าว่าอะไรทําให้หนูไม่อยากทําการบ้าน ตั้งแต่วันจันทร์จนถึงวันศุกร์ ลองมาคิดดีกว่าว่าวันจันทร์ที่หนูบอกไม่มีการบ้านมันเกิดไรขึ้น คิดอะไร หนูรู้สึกอะไร” เราก็ชวนลูกคุยแบบนี้นะคะ

ซึ่งถ้าเป็นเด็กวัยประถมขึ้นไป โดยส่วนใหญ่เด็กจะบอกค่อนข้างจะได้ชัดเลยแหละว่า “มันยาก ยากทุกวิชาแหละแม่” เราก็ลงมาดู ซึ่งในประสบการณ์หมอนะคะ เวลาหมอชวนเด็กคิดบางทีเด็กก็จะตอบแบบเหมาเข่งมันยากหมด ไม่อยากทําหมดเลย

อย่าใช้อารมณ์ในการตีตราเด็ก ซึ่งจะทําให้เด็กไม่กล้าบอกความจริง เพราะกลัวโดนลงโทษ เมื่อตั้งสติได้แล้วให้เราแนะนําว่าให้เราพูดตรงไปตรงมาค่ะ ไม่ต้องหลีกเลี่ยง ไม่ต้องอ้อมค้อม พูดตรงไปตรงมา เพื่อให้เด็กรู้ว่า เรื่องนี้เราจริงจัง เราซีเรียส เราจะเห็นว่าข้อนี้คือ การเผชิญหน้าแต่ต้องเผชิญหน้าภายใต้สตินะคะ ไม่โมโห
เราเปิดเจอกระเป๋าแล้วมีการบ้าน เราก็แค่ยื่นหนังสือให้ลูกแล้วพูดกับลูกแบบนี้นะคะ “ลูกมีอะไรจะบอกแม่ไหมคะ?” การที่เราไม่ได้พูดกับลูกว่าทําไมลูกไม่บอกแม่ว่าลูกมีการบ้าน คือหมออยากให้เราเปิดโอกาสให้ลูก เล่าเรื่องพูดสิ่งที่เขาควรจะพูดก่อนที่เราจะไปคาดคั้นเอาคําตอบ เพราะฉะนั้นอยากจะให้เราเริ่มต้นด้วย ประโยคคําถามนะคะ “ว่าลูกมีอะไรอยากเล่าให้แม่ฟังไหมคะ” มันเหมือนเป็นการให้โอกาสลูกอีกครั้งหนึ่งที่เขาจะบอกความจริง ซึ่งถ้าเรามีหลักฐานอยู่ในมือเราก็แค่ยื่นเฉยๆ แล้วบางทีอาจจะแค่ยื่นเฉยแล้วก็มองหน้าเขาก็ได้นะคะ บางทีเด็กก็รู้ตัวแล้วแหละว่าเขาควรจะต้องพูด

ซึ่งถ้าเกิดลูกพูดว่า “แม่หนูมีการบ้านหนูขอโทษ” ถ้าลูกสตาร์ทอย่างงี้นะคะ หมอแนะนําว่าให้เราชมลูกเลยค่ะว่า ขอบคุณที่ลูกบอก น่ารักมากที่ลูกบอก หรือแม่ดีใจมากที่ลูกบอก อะไรก็ได้นะคะที่เป็นฟีดแบ็คบวก เพื่อให้เขารู้สึกว่าการตัดสินใจในการบอกความจริงครั้งนี้ มันคือดีมาก น้ำเสียงท่าทางของเราที่เมตตาแบบนี้มันจะทําให้เด็กเขารู้สึกผิด รู้สึกผิดเองเลย โดยที่เรายังไม่ต้องสั่งสอนเยอะ งั้นถ้าเกิดลูกพูดมาด้วยความรู้สึกว่าเขาขอโทษ เราก็ชื่นชมเขานะคะ แต่หากลูกเราอึ้ง เงียบ ไม่พูดอะไรเลย เราก็ควรจะบอกลูกให้ชัดเจนว่าเราต้องการอะไร เราก็บอกว่าแม่อยากจะฟังหนู แม่อยากจะได้ยินว่า ความจริงคืออะไรคะ อันนี้เราก็ชี้ให้ชัดขึ้นว่า เราอยากได้ความจริงอะไร และหากลูกพูดความจริง ก็อย่าลืมชื่นชมเขาด้วยนะคะ

ถ้าลูกเราค่อนข้างที่จะต่อต้าน ไม่ต้องเค้นเขานะคะ ทําไปก็ไม่มีประโยชน์เลย เพราะแปลว่าสัมพันธภาพระหว่างเรากับลูกไม่ค่อยดีแล้ว เราจึงต้องหันกลับไปทําข้อหนึ่ง คือ เวลาคุณภาพ ช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันค่ะ

3.3. หลังจากที่เราเปิดโอกาสให้ลูกพูดความจริงแล้ว ข้อสุดท้ายก็คือค่อยมาสอนเขาว่า บ้านเราซีเรียสเรื่องโกหกนะ ที่ใช้คําว่าบ้านเราเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกสงสัยว่า ทําไมบ้านอื่นเขาโกหกได้ เราพูดว่าบ้านเราจริงจังเรื่องโกหก พ่อแม่ยังไม่เคยโกหกลูกเลยเพราะฉะนั้น พ่อแม่ก็หวังว่าลูกจะไม่โกหกพ่อแม่ แล้วก็ชี้ให้เห็นภาพว่าโกหกให้ผลเสียยังไง เช่น “ลูกเห็นไหมพอโกหกแล้วลูกไม่บอกว่ามีการบ้าน การแก้ไขก็ไม่ได้ถูกทํา ลูกก็จะเกิดปัญหา ทับซ้อนขึ้นมาอีก” ก็คือพูดให้เห็นผลเสียของการโกหกว่าจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ โดยทั่วไปแล้วถ้าเราได้ทําข้อ 2 มาอย่างดี พอเจอคําสั่งสอนข้อ 3 เด็กจะปิ๊งเลยว่าเขาไม่ควรโกหกเพราะว่าพ่อแม่จะช่วยเขาไม่ได้ คําพูดแบบนี้เนี้ยพ่อแม่ส่วนใหญ่พูดนะคะ แต่ว่าเด็กไม่ซื้อเพราะว่าพ่อแม่ไม่ค่อยได้ทําข้อ 2 “เพราะเราจะชอบพูดว่าอย่าโกหกแม่นะ ถึงเวลาพ่อแม่จะช่วยลูกไม่ได้” แต่พอถึงเวลาจริงๆ คุณแม่ก็ไม่ค่อยได้ช่วยลูกจริงๆ นะคะ คือเหมือนคาดหวังว่าลูกจะทําแต่ว่าไม่ได้ลงกระบวนการ รายละเอียดว่าเราจะช่วยลูกยังไง ทีนี้เราก็เลยต้องทําให้ครบทุกข้อนะคะ แล้วลูกเราจะไม่ติดการโกหก ถ้าหากเขาโกหก เขาก็จะไม่อยากโกหกอีกเลยค่ะ

และถ้าเกิดลูกเป็นเด็กที่ “โกหกเก่งมาก ขี้ขโมยมาก ให้รู้ไว้เลยว่าพ่อแม่มีความเครียดสูง” ไม่ใช่เครียดแค่ว่าเรื่องลูกมีปัญหาพวกนี้ แต่อาจจะมีความเครียดส่วนตัวด้วย ซึ่งมันไม่ง่ายที่เราจะใจเย็นในการเลี้ยงลูกแบบที่หมอบอกมา แต่ว่ามันไม่มีทางเลือกอื่นเท่าไร เพราะว่าเด็กก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการเรื่องของเวลา เรื่องเวลาคุณภาพ ถ้าเราไม่ได้ให้ตรงนี้ เราจะเลี้ยงคนๆ หนึ่งให้เป็นคนดีค่อนข้างยากมากเลยค่ะ

อย่างแรกเลยคือตั้งสติ ต่อให้คิดอะไรไม่ออก ตั้งสติก็ยังเวิร์ก ลูกเขามองเรานะคะ สมมุติเขากําลังโกหกเสร็จแล้วเขามองเรา หน้าตาเราธรรมดา ไม่ได้โวยวายเหมือนเดิม แค่นี้เขาก็รู้สึกดีแล้วค่ะ แค่เราเปลี่ยนน้ำเสียงนิดนึงว่า “ให้แม่ช่วยไหม?” คือมีบางบ้านบอกหมอเลยนะว่า พอแม่แค่เปลี่ยนน้ำเสียงจากแบบเดิมที่แบบ “ทําไมโกหก ทําไมไม่ทํา ทําไมนิสัยอย่างนี้” พอแม่เปลี่ยนเป็นแบบ “ให้แม่ช่วยไหม” ตามที่หมอบอก แม่เล่าประมาณว่า เขาลองไปปรับเสียงใหม่แล้วเขาพูดคําประโยคยาวๆ ไม่เป็น เขาก็แค่พูดสั้นๆ ว่า “ให้แม่ช่วยไหม” คือเขารู้สึกเลยว่าลูกเขา ดูนิ่งขึ้น ไม่มีปฏิกิริยาโมโหฉุนเฉียวหรืออะไรเลย คือเขาเชื่อฟังขึ้นค่ะ

ลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ ได้ผลอย่างไร มาแบ่งปันกันในคลับเลี้ยงลูกเชิงบวกได้ค่ะ
คุณหมอเสาวภาเลี้ยงลูกเชิงบวก
0


Please Login to CommentLog In