หลายครั้งที่เด็กเล็กๆ เขาไม่ได้ตั้งใจจะโกหก คือคําว่าโกหกเป็นน

หลายครั้งที่เด็กเล็กๆ เขาไม่ได้ตั้งใจจะโกหก คือคําว่าโกหกเป็นนิยามที่ผู้ใหญ่พูดกับเด็กที่ไม่ได้พูดความจริง ซึ่งในคําว่าโกหก ทำให้เข้าใจว่าเด็กมีความตั้งใจที่จะปกปิดข้อมูลแบบที่มีนัยยะซ่อนเร้น ให้ความรู้สึกไปในทางที่เป็นเชิงลบค่ะ แต่ว่าเด็กเล็กๆ วัย 2 - 4 ขวบ ส่วนใหญ่แล้ว เขาไม่ได้ตั้งใจจะปกปิดข้อมูลโดยมีเป้าหมายในทางเชิงลบ แต่เป็นไปตามพัฒนาการของเขามากกว่า นั่นคือ พูดมาจากจินตนาการ เช่น บอกว่ามีเพื่อนให้ของเล่นมา แต่จริงๆแล้วเป็นเพื่อนในจินตนาการ ไม่ใช่เพื่อนจริงๆ

หรือบางทีไม่ใช่จินตนาการ แต่ตอบไปเพราะสมองยังเชื่อมโยงข้อมูลไม่ได้ เช่น เราถามว่า เอาขนมมาจากไหน ลูกตอบว่า หยิบมาจากโต๊ะ แต่จริงๆแล้วคุณป้าให้มา…. คําถาม เอามาจากไหน เป็นคําถามที่เด็กต้องมองย้อนกลับไปในอดีต เด็กต้องกลับไปค้นหาภาพในสมอง ซึ่งก็มีหลายภาพ เด็กบางคนก็ตอบเอาภาพๆหนึ่งที่โผล่ขึ้นมา เช่น เคยหยิบจากบนโต๊ะ ก็ตอบไปว่า เอาจากโต๊ะ … โดยไม่ได้เชื่อมโยงว่า แม่กำลังพูดถึงขนมชิ้นที่ป้าให้มา….

และบางครั้งก็เป็นเรื่องของ “ความเข้าใจภาษาที่เกี่ยวเนื่องกับเวลา” เช่น คุณพ่อคุณแม่ถามว่า “อาทิตย์ก่อน หนูไปเที่ยวที่ไหนมา” เด็กเล็กๆยังไม่เข้าใจกาลเวลาค่ะ เขาแยกไม่ได้ว่า 1 อาทิตย์, 1 เดือน, เมื่อ 2 วันก่อนฯ มันต่างกันยังไง เด็กจึงตอบภาพอะไรก็แล้วแต่ที่โผล่ขึ้นมาในสมองตอนนั้นพอดี… ซึ่งอาจไม่ตรงก็ได้ ถ้าหากผู้ปกครองท่านไหนซีเรียส อาจคิดว่าลูกโกหก, คิดว่า “เอ๊ะ ทําไมลูกไม่พูดความจริง โดยเฉพาะ หากผู้ปกครองกำลังรู้สึกว่า ลูกกำลังทำอะไรผิด… เช่น ลูกมีของเล่นใหม่มา ทําไมลูกบอกว่าเพื่อนให้มา หรือลูกไปหยิบมาจากเพื่อนหรือเปล่า…. ซึ่งหากผู้ปกครองไม่ค่อยมีเวลาปฏิสัมพันธ์กับลูก จะไม่ค่อยรู้จักลูก จึงมีแนวโน้มที่จะคิดว่าลูกโกหกสูงมาก… แต่สำหรับหมอ หมอจะไม่เรียกว่าโกหก แต่จะบอกว่า “เป็นเรื่องพัฒนาการของเด็กที่ยังเชื่อมโยงข้อมูลไม่เก่ง และยังตอบคําถามที่เกี่ยวเนื่องกับกาลเวลาไม่ได้”
….

เพราะฉะนั้น หมอจะอึดอัดใจมากว่าจะใช้คําว่าโกหกดีไหม เพราะส่วนใหญ่ไม่ใช่ ในกลุ่มเด็กเล็กๆ… อีกสาเหตุหนึ่งที่ไม่อยากให้ใช้คําว่าโกหก ถึงแม้ว่าจะมีเด็กเล็กที่โกหกพ่อแม่จริงๆ คือเขาตั้งใจไม่พูดความจริง ตั้งใจที่จะปิดข้อมูล เพราะกลัวโดนลงโทษ, กลัวโดนตี หรือ อาจโกหกหรือพูดไม่หมด เพราะอยากได้ของบางอย่าง ก็เพราะว่า เราสามารถแก้ไขที่ต้นเหตุแล้วเด็กจะหยุดโกหกได้ ซึ่งสามารถหยุดโกหกได้ดีและระยะยาวด้วย นั่นก็คือ ต้องเลี้ยงลูกเชิงบวก ลงโทษเท่าที่จำเป็นจริงๆ(แบบไม่ใช้อารมณ์) เราจะเน้นการชวนลูกทำ, สอนลูกทำ, พาลูกทำ มากกว่าคอยห้ามแล้วดุกับลงโทษค่ะ….,


แต่หากพ่อแม่ไม่แก้ไขที่ต้นเหตุ แล้วใช้คําว่าโกหกกับลูก หมอห่วงว่า เราจะติดปากเวลาคุยกับเด็ก เราจะเผลอพูดว่า “หนูอย่าโกหกแม่สิ” ซึ่งคํานี้ค่อนข้างจะตีตราพอสมควร ลูกจะประทับตราตนเองว่าเป็นแบบนั้น…ทั้งๆที่ลูกไม่ได้อยากเป็น หากเพียงพ่อแม่เปลี่ยนมาแก้ไขที่ต้นเหตุ ลูกก็จะไม่เป็นแล้ว…

แล้วเราจะพูดคำว่า โกหกกับลูกได้บ้างมั้ย…ในกรณีที่ลูกทำไม่บ่อย เราควรใช้คำว่า ไม่พูดความจริงแทน เช่น “ทำไมลูกไม่พูดความจริงกับแม่” แต่หากลูกไม่พูดความจริงบ่อยๆ (ที่ไม่ใช่จินตนาการและไม่ใช่เรื่องพัฒนาการตามวัย) เราจะใช้คำว่า โกหก เพื่อให้ลูกรู้จักความหมายของคำนี้ และอยากให้เขาหยุดเป็น… พูดดังนี้ค่ะ “ที่ลูกไม่พูดความจริงกับแม่แบบนี้ เราเรียกว่าโกหกนะคะ…โกหก ทำให้แม่ช่วยเหลือหนูไม่ได้ แม่อยากให้หนูพูดความจริงมากกว่าค่ะ” ….แล้วพ่อแม่ก็อย่าลืม แก้ไขที่ตนเองก่อนนะคะ ลูกถึงจะโกหกลดลงหรือเลิกโกหกไปเลย…



หมอเสาวภาเลี้ยงลูกเชิงบวก
0


Please Login to CommentLog In