เรื่องต่อจากโพสต์ที่แล้วนะคะ หากใครยังไม่ได้อ่านโพสต์ก่อนหน้า รบก

เรื่องต่อจากโพสต์ที่แล้วนะคะ หากใครยังไม่ได้อ่านโพสต์ก่อนหน้า รบกวนอ่านก่อนเพื่อความเข้าใจค่ะ

จากคำตอบที่ได้จากคุณแม่ที่ว่า พี่ภูมิผิดที่ทำหน้าทำตาแหย่น้อง ส่วนน้องภีมผิดที่ทำร้ายร่างกายพี่ หมอจึงบอกได้ว่าพฤติกรรมโกรธและการทุบตีของน้องภีมนั้น เกิดขึ้นหลังพฤติกรรมการแหย่ของพี่ภูมิ

ดังนั้นแล้ว ถ้าจะช่วยน้องภีมให้จัดการเรื่องอารมณ์ได้ ก็ต้องโฟกัสที่ต้นเหตุของการโมโหนั้นด้วยว่าคืออะไร เพื่อเป็นการช่วยลูกในทั้งสองทาง นั่นก็คือ
ช่วยสอนเรื่องการจัดการอารมณ์ของตัวเอง หลังจากที่มีอารมณ์โมโห
ช่วยป้องกันไม่ให้ลูกถูกกระตุ้นให้อารมณ์เสียบ่อยๆ ป้องกันไม่ให้สมองส่วนอารมณ์ถูกกระตุ้นให้ทำงาน ยกตัวอย่างเช่น ลดพฤติกรรมการแหย่ของพี่ภูมิ เพื่อปกป้องสมองส่วนอารมณ์ของน้อง ไม่ให้ถูกกระตุ้นโดยไม่จำเป็น

หลังจากนั้น เราก็ต้องคุยกับพี่ภูมิ
เนื่องจากพี่ภูมิโตกว่า หากว่ายังพอพูดคุยกันได้ โดยที่ลูกยังไม่ได้ต่อต้าน ก็ควรชวนให้พี่ภูมิเรียนรู้ ให้พี่ได้คิดว่า “เพราะอะไรน้องถึงตีเรา?” ไม่ใช่แค่บอกเฉยๆว่าเค้าควรทำยังไง แต่ชวนให้ลูกได้คิดตาม

คำตอบของพี่ภูมิ ตามความจริงก็ควรจะเป็น: “เพราะว่าผมไปแหย่น้อง”
เมื่อพี่ยอมรับความผิด คุณแม่ก็ควรชื่นชมว่า: “พี่ภูมิ เก่งมากที่ยอมรับว่าตัวเองผิดที่ตรงไหน”
และชวนให้พี่คิดตามต่อว่า: “แล้วถ้าจะไม่ให้น้องโมโห ไม่ให้น้องทำร้ายเรา พี่ภูมิ ต้องทำอย่างไร?”
พี่ภูมิ ก็อาจจะตอบว่า: “ผมก็ต้องไม่แหย่น้อง”
คุณแม่ก็ควรจะตอบลูกว่า: “ขอบคุณมาก ที่พี่ภูมิ มาช่วยคิดกับแม่ และนี่ก็คือวิธีแก้ปัญหาที่พี่ภูมิ จะได้ไม่ต้องเจ็บ และจะได้ไม่ต้องมาฟ้องแม่”

ซึ่งนี่เป็นวิธีที่ชวนให้ลูกมีส่วนร่วม ช่วยกันคิด ช่วยกันตอบ และเป็นการลดการกระตุ้นสมองส่วนอารมณ์ของน้องภีม ได้ ดังนั้นแล้วแทนที่คุณแม่จะดุทั้งสองฝ่าย ก็แนะนำให้คุณแม่ชวนพี่ภูมิ มาคุยแบบนี้

และคุณแม่ก็สามารถจะพูดทิ้งท้ายไว้ว่า: “แต่ถ้าพี่ภูมิหยุดแหย่น้องไม่ได้ แล้วน้องโมโหจนพี่ภูมิโดนน้องตีมาอีก แล้วพี่ภูมิมาบอกแม่ แม่จะรับรู้แต่จะไม่ช่วยอะไร เพื่อให้พี่ภูมิเรียนรู้ว่า ถ้าควบคุมตัวเองไม่ให้แหย่น้องไม่ได้ ผลลัพธ์ก็จะเป็นแบบนี้”

สรุป
คุณแม่ควรหาต้นเหตุของปัญหา เพื่อช่วยลดความถี่ของการเกิดอารมณ์โมโหของน้องภีม ทำให้น้องมีอารมณ์มั่นคงได้ในทุกๆ วันตลอดเวลา
0


Please Login to CommentLog In