เลี้ยงลูกเชิงรุกให้มากกว่ารับ เพื่อลดการต่อต้าน

เลี้ยงลูกเชิงรุกให้มากกว่ารับ เพื่อลดการต่อต้าน

เมื่อเราพูดถึงการเลี้ยงดูเด็กนั้น โดยคอนเซ็ปต์แล้วมีอยู่ 2 ทางที่ทําได้

1. แกนแรก เลี้ยงลูกแบบฝ่ายรุก
คือการที่คุณพ่อคุณแม่เป็นฝ่ายกระตุ้นชวนลูกทํากิจกรรม ทําให้ลูกยุ่งจนไม่มีเวลาที่จะไปซน (ไม่จำเป็นต้องเล่นกับลูกตลอดเวลา แต่ขอให้มากพอที่ลูกสามารถทำกิจกรรมนั้นเองในช่วงที่เราไม่อยู่กับเขา)

เช่น เราเคยชวนเก็บลูกบอลใส่ตะกร้า พอลูกเห็นลูกบอล เขาจะเก็บใส่ตะกร้าเองตอนที่เราไม่อยู่ และในช่วงเวลาที่ลูกยุ่งกับงานตรงหน้า สายใยประสาทจะแตกกิ่งก้าน เด็กจะมีความสามารถหรือความฉลาดในด้านนั้นๆ ตามที่เราสอน.. อย่างกรณีเก็บบอลใส่ตะกร้า ลูกได้พัฒนาทักษะสมอง EF (กำกับตนเองไปสู่เป้าหมาย) และทักษะการใช้มือประสานกับตาที่คล่องขึ้น

ดังนั้น การลุกขึ้นมาชวนลูกทำกิจกรรมต่างๆ นอกจากลูกได้พัฒนาทักษะทางสมองแล้ว ยังลดโอกาสที่เราจะพูด “ไม่” กับลูก, โอกาสที่เขาจะหยุดชะงักแล้วสายใยประสาทไม่ส่งสัญญาณต่อกัน ก็น้อยลง ลูกได้พัฒนาสมองเต็มที่และสัมพันธภาพระหว่างเรากับลูกก็ดีขึ้นด้วย

2. แกนสอง เลี้ยงลูกแบบฝ่ายรับ
ฝ่ายรับก็คือ ลูกทำพฤติกรรมที่ไม่น่ารักหรือซุกซนมากเกินไป แล้วเราต้องห้าม, ดุ, สั่ง… ซึ่งมักเกิดจากเราปล่อยลูกเล่นอิสระในพื้นที่ที่เล่นอิสระไม่ได้ เช่น ในบ้านที่มีของผู้ใหญ่วางอยู่มาก พ่อแม่ไม่ได้เก็บของที่เล่นไม่ได้ออกไป ไม่ได้หาตัวล็อคมาปิดกั้นประตูตู้ไว้ พอไม่มีคนชวนเล่น ลูกก็จะหาอะไรเล่นเองกับสิ่งที่เล่นไม่ได้ ทำให้เราต้องพูดคำว่า “ไม่” กับลูก และก็ห้ามบ่อยๆด้วย แบบนี้คือ เลี้ยงลูกแบบตั้งรับ คือรอลูกทำอะไรสักอย่าง แล้วเราก็ตามดุ, สอน, ห้าม เจอแบบนี้ ลูกจะต่อต้าน, แอบทำ, แกล้งทำ, ทดสอบพ่อแม่, โวยวาย, ซึ่งก็มักตามมาด้วยอารมณ์ของพ่อแม่แน่นอน

พวกเราคงจะพอเห็นภาพนะคะว่า การเลี้ยงแบบตั้งรับอย่างเดียวนั้นเหนื่อยมาก ต่อให้ใช้เทคนิคของหมอเสาวภา คือให้ใจเย็นๆ ให้เข้าใจลูกก่อน, หรือทำงานกับอารมณ์ลูกก่อนสอน,หรือก่อนอธิบาย ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคอะไรก็ไม่ได้ผล หากเอาแต่ตั้งรับ….

อันที่จริงแล้ว พ่อแม่ควรทำทั้งสองแกน คือ มีทั้งรุกและรับ แต่ขอแนะนำให้เลี้ยงลูกแบบรุกสะสมไว้ก่อน ให้ทำบ่อยๆ คือ ให้สะสมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และให้ลูกได้สะสมทักษะทางสมองหลายๆอย่าง หากลูกต่อต้าน, ซุกซน แล้วเราห้ามหรือบอกว่าไม่ได้ การตอบสนองของลูกจะไม่รุนแรง ลูกไม่ต่อต้านมาก และสุดท้ายก็มักรับฟังค่ะ

มีหลายบ้าน ที่หวังดีกับลูก มีความตั้งใจจะเลี้ยงลูกให้ดี พยายามหากิจกรรมทํากับลูก แล้วเล่นกับลูกแทบตลอดเวลา เมื่อมาถึงจุดหนึ่งจะรู้สึกเหนื่อยมาก, มันไม่ไหว ทำให้หงุดหงิดอารมณ์เสียง่าย กลายเป็นส่งผลเสียกับลูกมากกว่าได้ผลดี ดังนั้น ไม่ต้องเล่นกับลูกตลอดเวลา ไม่ต้องรู้สึกผิด ถ้าเราต้องหยุดพัก.. ขอให้มั่นใจว่า เมื่อเราเลี้ยงแบบรุกมากพอ พอมาตั้งรับ ลูกจะไม่ต่อต้านมาก

ช่วงเวลาที่เราเลี้ยงแบบรุก บางทีหมอก็ใช้คำว่า “เวลาคุณภาพ” เราควรจะคิดอยู่ในหัวเลยว่า เดี๋ยวจะทําอะไรกับลูก คือต้องมองว่าการเลี้ยงลูกเป็นงานด้วยนะคะ เราถึงจะมีแพลนในหัวได้ เช่น คิดว่าเดี๋ยวจะชวนอ่านนิทาน หรือ ชวนระบายสี หรือต่อตัวต่อ หรือไม่ต้องเป็นฝ่ายเริ่ม ให้เล่นตามลูกก็ได้ แต่ขอให้มีแนวคิดของเราเข้าไปอยู่ในช่วงเวลาที่อยู่กับลูกด้วย เช่น วันนี้เราอยากจะต่อเป็นบ้านที่มีหน้าต่างเป็นสิบๆบาน ซึ่งลูกไม่ได้คิดถึงบ้านแบบนี้มาก่อน เมื่อเราต่อออกมาให้ลูกเห็น ซึ่งเด็กๆเขาจะจับตามองสิ่งที่พ่อแม่ทำอยู่แล้ว เขาก็อาจอยากทําเหมือนเรา (เราเป็นไอดอล) หรืออยากทําให้ต่างนี้ไปอีก (เราสร้างแรงบันดาลใจ) ก็คือ ลูกจะรู้สึกว่าเวลาทำกิจกรรมกับพ่อแม่ เขาได้ไอเดีย, ได้พัฒนาตนเอง, ทำให้อยากอยู่ทำกิจกรรมกับพ่อแม่มากกว่าไปซุกซนเละเทะให้โดนดุ และยังทำให้เราเป็นพ่อแม่ที่น่านับถือสำหรับลูกด้วย

นอกจากการเล่น จะเป็นการชวนทํางานบ้านก็ได้เหมือนกัน เช่น สอนลูกทำงาน (ตามวัย) ให้ลูกจดจ่อกับพ่อแม่ ค่อยๆสอน และชื่นชมลูกเป็นระยะ เช่น “ลูกแยกผ้าให้แม่หน่อยนะคะ” แล้วเราก็สาธิตให้ดูด้วย “ผ้าชิ้นเล็กๆแบบนี้คือเสื้อหนู..ใช่มั้ย..ให้ใส่ตะกร้านี้ ส่วนตัวนี้เสื้อแดดดี๊ (โชว์ให้ดู) ตัวนี้เสื้อหม่ามี๊ (โชว์ให้ดู)... เอาเสื้อหม่ามี๊กับแดดดี้ใส่อีกตะกร้า แบบนี้ค่ะ” แบบเนี้ยคือเรามีแพลนในหัวว่า จะสอนลูกแยกเสื้อเด็กกับเสื้อพ่อแม่ ถ้าเราไม่คิดอะไรก่อน ลูกมาป่วนเปี้ยนใกล้ๆ หยิบผ้าเข้า-ออก ปนกันไปหมด เราจะห้ามหรือดุ มันจะสตาร์ทด้วยอารมณ์ง่ายมาก

ดังนั้น ในสองแกนของการเลี้ยงลูก หมอขอให้เราเริ่มที่รุกก่อน ให้ทำบ่อยๆ เตรียมตัวเองให้ดี วันนี้จะชวนลูกทําอะไร ไม่ต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่อลังการ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ ขอให้ลูกรู้สึกว่าเราอยากมีปฏิสัมพันธ์กับเขา ลูกสามารถตั้งใจและจดจ่อกับเราได้อย่างมีความสุข โดยเขาจะลืมเรื่องซนอื่นๆไปเลยค่ะ… แล้วพอเราพัก ลูกว่างจากเราไปแล้ว เราก็สลับมาเป็นฝ่ายรับค่ะ ซึ่งหมอเชื่อว่า มันจะมีเรื่องห้ามลดลงไปมากกกกก จริงๆ

กรณีที่มีความจำเป็นต้องพูดว่า ‘ไม่” = ฝ่ายรับ

กรณีเป็นฝ่ายรับ คือไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่ฉันตั้งใจว่าจะลงไปเล่นกับลูก เช่น กําลังนั่งดื่มกาแฟอยู่ แล้วลูกวิ่งไปที่ห้องครัว แม่บ้านกําลังลงน้ํายาขัดพื้นอยู่ เราจะทํายังไงดี มันเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้อยู่แล้ว แต่เราจะค้นพบเองว่า มันไม่บ่อย และที่สำคัญ เมื่อเราต้องห้ามลูกจริงๆ เขาจะเชื่อฟังง่ายกว่าตอนที่เราไม่เคยเป็นฝ่ายรุกมาก่อนเลย….


อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หมอขอเชิญชวนให้คุณพ่อคุณแม่เริ่มที่การเลี้ยงลูกแบบเชิงรุกก่อน และทำให้บ่อย, ให้มากกว่าเลี้ยงแบบเชิงรับซึ่งมีคำห้าม, คำสั่งที่ฟุ่มเฟือยมากเกินไป นะคะ

หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก➕➕
1


Please Login to CommentLog In

Saithan
เตรียมตัวฝึกสอนน้องตั้งแต่5เดือนเลยค่ะ