คำว่า "ไม่" ใช้อย่างไรให้ศักดิ์สิทธิ์

คำว่า "ไม่" ใช้อย่างไรให้ศักดิ์สิทธิ์

ต่อเนื่องจากโพสต์ที่แล้ว เมื่อเราตั้งสติแล้วโอเคกับคําว่า “ไม่” ของลูก จะทำให้ลูกมีโอกาสพัฒนาตัวตน ซึ่งในเวลาเดียวกัน มันก็ช่วยให้เราเปิดใจกว้างได้ จึงทําให้คำว่า “ไม่” ที่ออกจากปากของพวกเราลดน้อยลงไปด้วย…

อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุการณ์ที่อาจจะอันตราย พ่อแม่ก็ต้องเลือกใช้คำว่า “ไม่” อย่าใช้คำอ้อมค้อมหรือเบี่ยงประเด็น เพื่อให้ลูกรู้ชัดๆว่าเราไม่ต้องการให้ลูกทำแบบนี้… และคำว่า “ไม่” ครั้งนี้ จะต้องได้ผลจริงๆ

ตัวอย่างเช่น ลูกกำลังวิ่งในลานจอดรถ, กําลังเดินไปใกล้ขอบบ่อน้ำ, กําลังปีนเก้าอี้แล้วอยู่ใกล้ๆหน้าต่าง, กําลังปีนโต๊ะสูง, กำลังจะเข้าไปหารูปลั๊ก… ในเด็กเตาะแตะการกระทำเหล่านี้ คำว่า “ไม่” ของพ่อแม่ต้องเด็ดขาด ต้องชัดเจนว่า “ไม่” คือ “ไม่” และลูกก็ต้องเชื่อฟังทันที

นั่นก็หมายความว่า พ่อแม่ต้องไม่ใช้คำว่าไม่ฟุ่มเฟือ ควรจะนานๆพูดที เพื่อเก็บคำว่า “ไม่” ใช้ในเหตุการณ์อันตราย, ฉุกเฉิน คำๆนี้ถึงจะศักดิ์สิทธิ์ได้

วิธีการทําให้คําว่า “ไม่” ศักดิ์สิทธิ

เริ่มที่ตัวเรา..
1. ผู้ปกครองจะต้องบอกกับตัวเองก่อนว่า สถานการณ์ตรงหน้านี้ เราจะต้องทําให้จริงจัง น้ำเสียงและท่าทางของเราต้องหนักแน่น แต่ไม่คุกคามนะคะ นั่นก็คือ “Kind but Firm (จริงจังแต่ไม่คุกคาม) มีความหมายว่า ลูกต้องไม่รู้สึกกลัวลนลาน จากการทำงานของสมองส่วน Amygdala (อะมิกดาลา = สมองส่วนสัญชาตญาณ) เราไม่ต้องการให้ถึงขั้นนั้น

2. พ่อแม่ต้องพาตัวเองไปอยู่ที่ลูกทันที การเข้าไปอยู่ใกล้ลูก ทำให้เราช่วยลูกได้ทันการหากเกิดอุบัติเหตุจริง เช่น พ่อแม่รีบเดินไปตรงโต๊ะสูงที่ลูกกำลังปีนอยู่ หากลูกตกใจเสียงแม่ แล้วหันหลังหล่น เราจะช่วยลูกได้ทันค่ะ

3. พ่อแม่ควรพูดคำว่าไม่ ในช่วงเวลาที่ถึงตัวลูก เช่น “ไม่เล่นตรงนี้” สบตาและมีน้ำเสียงหนักแน่น Kind but Firm เพื่อให้ลูกรู้ว่าเราจริงจัง พร้อมกับอุ้มลูกออกมาจากตรงนั้นทันที

ที่แนะนำให้อุ้มออกมา เพราะเราต้องการให้คำว่า “ไม่เล่นตรงนี้” เกิดขึ้นจริงๆ และยังป้องกันอันตรายในกรณีเด็กต่อต้าน ที่ทำตรงข้ามพ่อแม่บอก หลายคนได้ยินคำว่าไม่ กลายเป็นยิ่งทำ ซึ่งอันตรายมาก


ประเด็นสำคัญที่พ่อแม่ควรรับทราบก็คือ เราต้องมีสติ อย่าตวาดใส่ลูก อย่าดุลูก อย่าขู่ให้กลัว การใช้อารมณ์กับเด็กหรือขู่เด็กให้กลัวมาก เช่น จะทําให้สมองส่วนอารมณ์ของลูกถูกกระตุ้นรุนแรง ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร.. เด็กหลายคนเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายในอนาคต เขาจะลนลานหรือนิ่งเฉยไปเลย ไม่ได้มีสติในการปกป้องตนเองให้ปลอดภัย

สิ่งที่ถูกต้องคือ เด็กควรถูกนำออกมาจากบริเวณที่จะเกิดอันตรายก่อน แล้วพ่อแม่ค่อยสอนลูกให้เข้าใจว่าเมื่อกี้เกิดอะไรขึ้น, ทำไมพ่อแม่ต้องอุ้มลูกออกมา, แม่ห่วงอะไรลูกบ้าง, เมื่อกี้ทําไมแม่ต้องตะโกนเสียงดัง, ถ้าเมื่อกี้ลูกแหย่นิ้วไปจะเกิดอะไรต่อจากนั้น, ถ้าเกิดลูกเหยียบขาเก้าอี้พลาดอีกนิดนึงมันจะเกิดอะไรขึ้นต่อ ค่อยๆ ชวนลูกคิดว่าจะเกิดผลลัพธ์อะไรตามมา ถ้าลูกยังฝืนทําสิ่งที่เป็นอันตรายอยู่ต่อไป

เด็กวัยเตาะแตะ จะไม่เข้าใจคำว่า ไฟช็อต เมื่อพ่อแม่ต้องอธิบายคำพูดที่เข้าใจยาก ขอให้ใช้สีหน้าและน้ำเสียงเราเป็นตัวช่วย เช่น แม่บอกลูกว่า “ถ้าลูกแหย่นิ้วเข้าไปในรูปลั๊ก ไฟจะช็อตลูก อันตรายมาก” หน้าตาพ่อแม่ต้องขึงขัง ตาโต ดูน่ากังวล เมื่อเด็กเห็นหน้าพ่อแม่แบบนี้ เด็กจะเข้าใจว่า สิ่งนี้ไม่ควรเล่น ไม่ควรเข้าใกล้ เพราะดูจากหน้าตาพ่อแม่แล้วไม่ดีเลย…เด็กก็จะไม่ทําซ้ำค่ะ


โดยสรุป ในช่วงที่กําลังอันตราย พ่อแม่อาจตะโกนว่า “ไม่” ออกไป เพราะมันเป็นสัญชาตญาณ แต่ขอให้เราอุ้มลูกออกมาให้ทัน และทำจิตใจตนเองให้สงบก่อนสอนลูก ในช่วงที่สั่งสอน อย่าเอาความกลัวเราไปยัดใส่ให้ลูก เราต้องให้ลูกใช้สมองส่วนคิด ให้ลูกค่อยๆไล่คิดภาพตามคำสอน ใช้สีหน้าพ่อแม่เป็นตัวบอกถึงอันตราย … เมื่อพ่อแม่ใม่ใช้คำว่า “ไม่” น้อย หรือไม่ฟุ่มเฟือย วิธีการนี้จะช่วยให้ลูกไม่ทำผิดซ้ำค่ะ


หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก➕➕
1


Please Login to CommentLog In

พะเพื่อน​ คุณแม่ลูก3
ขอบคุณข้อแนะนำดีๆของคุณหมอมากค่ะ