วิธีการเข้าหาลูก ในกรณีที่ลูกจะเข้าไปทําสิ่งที่เราไม่อยากให้ทํา

วิธีการเข้าหาลูก ในกรณีที่ลูกจะเข้าไปทําสิ่งที่เราไม่อยากให้ทํา

1. ตัวเราต้องไปถึงตัวเด็กพร้อมๆ กับเสียงห้าม

การตะโกนว่า “อย่า” จากที่ไกลตัวลูก ในขณะที่ลูกกำลังจะทำ (สิ่งห้ามทำ) มีโอกาสล้มเหลวสูงค่ะ เด็กหลายคนยิ่งอยากทำมากขึ้น คือ คำว่า “อย่า” ของแม่ เท่ากับคำว่า “ให้ทำ” (ฮือๆ) หรือเด็กหลายคนก็ทะเล้น วิ่งหนีไปเลย ไม่อยู่ให้เราสอนเพื่อความเข้าใจ… อีกเหตุผลก็คือ เสียงตะโกนมักมีความโกรธของพ่อแม่ผสมอยู่ด้วย ซึ่งอารมณ์เชิงลบที่รุนแรงสามารถกระตุ้นสมองอมิกดาลาของลูก ไม่ส่งผลดีต่อการจัดการอารมณ์ของลูกแน่นอน

อย่าลืมว่า เวลาที่เราห้ามลูก เรากําลังยุ่งอยู่กับสมองเขา เราอาจเผลอไปตัดกิ่งก้านแขนงประสาทของลูกก็ได้ การเข้าถึงตัวลูก เป็นการช่วยพ่อแม่ให้ตั้งสติก่อน ลดโอกาสใช้อารมณ์ ให้เราสามารถชวนลูกคิดตามได้ว่า ทำไมเราถึงห้ามเขา ทั้งน้ำเสียงและท่าทางที่ไม่คุกคาม จะกระตุ้นสมองลูกให้คิดตาม และทำความเข้าใจอย่างช้าๆได้ค่ะ

2. ย่อตัวลงสบตาลูก และบอกกับลูกว่าเพราะอะไร พร้อมทำท่าประกอบ

การสบตามีความหมายมากในการคุยเรื่องซีเรียส พ่อแม่ต้องย่อตัวลงเพื่อให้ระดับสายตาอยู่เท่ากัน… เมื่อพ่อแม่จริงจังผ่านท่าทาง ลูกจะเก็ท.. ก็จะจริงจังตาม… ส่วนการอธิบายนั้น เราต้องค่อยๆพูดให้ลูกเห็นภาพ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ให้ใช้น้ำเสียงและภาษากายประกอบด้วย เช่น บอกลูกว่า “ตอนนี้คุณป้าถูพื้นอยู่ ลูกดูสิ ว่ามันลื่นไหม?” (ชี้ไปที่พื้นเปียก และใช้มือเราลูบพื้นที่เปียกให้ลูกเห็น) จะเห็นว่า การชวนลูกคิดตามนี้ จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าลูกอยู่ห่างจากเรา โอกาสที่ลูกจะโฟกัสคําอธิบายแล้วคิดตามนั้นน้อยมากๆ ยิ่งประโยคสั้นๆก็ยิ่งยาก เช่น “อย่าเข้ามา พื้นลื่น” ลูกจะไม่เห็นภาพในสมองเลยว่า แม่หมายถึงอะไร ถ้าแม่พูดโดยไม่มีภาษาท่าทางประกอบ

และถ้าเป็นวัยเตาะแตะ นี่ไม่ต้องคิดเลย เขายิ่งไม่เข้าใจใหญ่ พ่อแม่ต้องท่องไว้ในใจตลอดเวลาว่า ลูกไม่ได้เห็นภาพและเก็ทได้เหมือนพ่อแม่คิด เราต้องไปถึงตัวลูก ชี้ให้ดูและอธิบายช้าๆพร้อมท่าประกอบนะคะ

คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ภาษาท่าทางเยอะมากเพื่อให้ลูกเข้าใจ เมื่อลูกคิดภาพตามเราได้ เขาจะเก็ทและเข้าใจได้ในระดับหนึ่งเลย เราถึงค่อยต่อด้วยว่า “เราไปเล่นทางนู้นกันดีกว่า” ขอให้คิดไว้ว่า ถ้าลูกเข้าใจในสิ่งที่พ่อแม่พยายามอธิบายจริงๆ เขาจะอยากทำตามค่ะ


3. สร้างภาพใหม่ให้ลูก ด้วยการชวนลูกคิดว่าควรทําอะไรแทน
หลังจากอยู่ตรงตำแหน่งลูกแล้ว ก็ชวนลูกไปทำอย่างอื่น จะจูงมือลูกไปหรือจะให้ลูกจูงมือเราไปก็ได้ การชวนออกจากตรงนั้น ก็มีทริคเหมือนกัน เพราะเด็กหลายคนพอได้ยินคำว่า ไปเล่นที่อื่น” ยิ่งไม่ยอมไป หมอยังใช้หลักการสร้างภาพในสมองให้ลูกเข้าใจเหมือนเดิมค่ะ แต่ครั้งนี้เราจะพูดถึงกิจกรรมที่จะพาไปเล่น ให้ลูกเห็นภาพชัดๆว่ามันน่าสนใจหรือน่าสนุกกว่าอยู่ตรงนี้

หมอแนะนำให้ดึงภาพเดิมที่เคยเล่นสนุกกันออกมา เช่น “เราไปเล่นต่อก้อนไม้กันมั้ย วันก่อนลูกต่อได้สูงตั้ง 4 ชั้นแหนะ (ทำเสียงสนุก น่าตื่นเต้น) จำได้มั้ยลูก สนุกดีนะ” เมื่อลูกนึกภาพออก เจ้าอารมณ์ความรู้สึกก็ตามมาด้วยนะคะ อารมณ์นี่แหละที่ทำให้ลูกตัดสินใจเปลี่ยนมาเล่นในสิ่งที่เล่นได้แทน

หรือจะใช้วิธีตั้งคำถามให้ลูกรู้สึกตื่นเต้นก็ได้ เช่น “วันนี้ แม่อยากรู้จังเลยว่า ลูกจะต่อได้สูงเท่าไรน้า” หรือ อาจใช้คำถามเพื่อชวนไปดูในลังของเล่น “เอ.. มาช่วยแม่หาดีกว่า วันนี้เราจะเล่นอะไรดี ในกล่องของเล่นลูก มีอะไรที่น่าเล่นอีกนะ” …..ภาพใหม่ในสมองที่น่าสนุกหรือน่าสนใจ จะดึงดูดลูกให้ออกจากพื้นที่ที่เล่นไม่ได้ค่ะ

ในชีวิตจริง พวกเราก็อาจพูดแบบนี้ แต่มันเร็วจนลูกไม่ทันคิดภาพตามค่ะ เช่น “อย่าเข้ามา พื้นลื่น ไปเล่นที่อื่นก่อน..ไป”...

นึกออกแล้วใช่มั้ยคะว่า ทำไมลูกเราถึงห้ามไม่ฟังเลย… ลองปรับใหม่นะคะ อ้อ… และอย่าลืมอ่านบทที่เกี่ยวกับคำว่า “ไม่” ในบทอื่นด้วย เราต้องใช้ความรู้ความเข้าใจของทุกบทถึงจะได้ผลค่ะ ห้ามอ่านเฉพาะบทนี้แล้วนำไปใช้บทเดียว ไม่ได้ผลในระยะยาวแน่นอนค่ะ…

หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก
8


Please Login to CommentLog In

ลูกสาวNongNene
❤🧡💛💚💙💜❤🧡💛💚💙💜❤🧡💛💚💙💜
white
📌📌📌📌📌📌
LilyLily
เก็บข้อมูลไว้เลี้ยงเจ้าตัวเล็ก
Ni
📌📌📌
Yo
🥰❤🥰❤🥰❤🥰❤🥰❤🥰❤🥰❤
เวณิกา
❤️❤️❤️❤️❤️❤️
Phawarin Oi.
ต้องส่งให้คุณพ่ออ่านซ้ำๆหลายๆรอบเลย!!ค่ะ