“4 เหตุผลหลักที่ทำให้ลูกพูดไม่ตรงกับความจริง”

“4 เหตุผลหลักที่ทำให้ลูกพูดไม่ตรงกับความจริง”

1. เป็นไปตามพัฒนาการของเด็ก ที่สมองเขายังไม่สามารถจะเชื่อมโยงข้อมูล แล้วนำมาเล่าให้เราฟังได้ตรงกับคําถามที่เราส่งไป

2. เป็นไปตามพัฒนาการของเด็ก เรื่องของ “จินตนาการ”

หมออยากแนะนำผู้ปกครอง ให้ช่วยลูกแยกแยะว่าเรื่องไหนคือ “เรื่องจริง” เรื่องไหนคือเรื่องที่ “จินตนาการ” หมอจะไม่ใช้คําว่าคิดเอง เพราะบางครั้งเด็กจะรู้สึกว่าหนูไม่ได้คิดเอง เด็กจะรู้สึกเหมือนถูกกล่าวหาว่าเธอสร้างเรื่อง ซึ่งเด็กหลายคนแยกแยะไม่ได้ เล่าไปเล่ามาผสมไปทั้งเรื่องจริง เรื่องจินตนาการอยู่ในข้อมูลเดียวกัน โดยเฉพาะเด็ก 3 - 5 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงจินตนาการเฟื่องฟูของลูก

ยกตัวอย่างเช่น ลูกพูดว่าเราไปเที่ยวซาฟารีเวิลด์ นี่คือเรื่องจริงและไปกับแม่ แต่ที่หนูบอกว่าหนูป้อนอาหารสิงโตด้วยอันนี้มันคือจินตนาการนะลูก เพราะว่าหนูอยากจะป้อนอาหารสิงโต แต่ว่าหนูไม่ได้ป้อน หนูก็เลยจินตนาการว่าหนูป้อนอาหารสิงโต เราก็ต้องช่วยเด็กแยกแยะโดยหาคําพูดที่มาเสริมให้กับสิ่งที่เด็กเขากําลังเล่า ทีนี้เราช่วยลูกเขาได้เป็นระยะๆ พอเด็กเริ่มเข้าใจแล้ว ถ้าเราถามว่าลูกโดนเตะคือเรื่องจริง หรือจินตนาการ ลูกก็จะบอกว่านี้จินตนาการ เราก็จะได้สบายใจ

แต่ถ้าเกิดเราไม่เคยสอนเขามาก่อนแล้วเรามาถามเขาว่าโดนเตะคือเรื่องจริง หรือจินตนาการ ลูกก็จะงง หรือลูกอาจจะไม่เข้าใจว่าแม่จับผิดฉันเหรอ เพราะฉะนั้นการสอนให้ลูกแยกแยะเป็นจะทําให้เด็กเห็นภาพว่าเรากำลังช่วยให้ลูกแยกแยะได้

3. เริ่มเข้าสู่ความตั้งใจที่จะโกหก ที่พบบ่อยก็คือ “โกหกเพราะว่ากลัวโดนดุ กลัวถูกทําโทษ” หลายคนน่าจะมีประสบการณ์นี้นะคะ คือเด็กต้องมีความสามารถในการที่จะเอาตัวรอด เป็นธรรมชาติ มันอยู่ในสัญชาตญาณอยู่แล้ว ต่อให้เราเลี้ยงลูกเชิงบวกยังไง พัฒนาการหรือว่าสัญชาตญาณของเด็ก หรือว่าการพัฒนาคนมาเป็นตัวตน อย่างไรก็ต้องเกิดภาวะเช่นนี้ เช่น เมื่อกี้เข้ามาในบ้าน สวัสดีอากง อาม่ารึยัง? ลูกตอบ “สวัสดีแล้ว” คือหลีกเลี่ยงการโดนลงโทษเพราะถ้าไม่สวัสดี ก็จะโดนดุ

เวลาที่เราลงโทษเด็ก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบที่ไม่ได้แพลนอะไรไว้ในหัว เราก็บอกว่า “มานี่เลย จะต้องให้ดุกี่ครั้ง” โมโหขึ้นมาแล้วก็ตวาดเสียงดัง หรือไม่ก็ตีลูกเลย ก็คือเป็นการดุโดยที่เราไม่ได้แพลนมาก่อน ดังนั้น การลงโทษที่ดี จึงควรจะเป็นแบบที่เราตั้งสติ คิดไว้แล้วว่าเราจะคิดบทลงโทษอะไรดี เพื่อที่ลูกจะได้ไม่กลัวมาก ทั้งจากน้ำเสียง หรือกริยาท่าทางของเรา ตามที่หมอเคยบอกไปแล้วว่า เวลาที่ลูกกลัวมาก สมองส่วนความกลัว ส่วนสัญชาตญาณจะ alert ซึ่งเราไม่อยากไปกระตุ้นสมองส่วนนั้นบ่อย แล้วเด็กก็จะคุ้นชินกับการสู้หนีค่ะ

การเลี้ยงลูกเชิงบวกหมายถึงว่า การที่เราเลี้ยงเขาแล้วเรามีวิธีรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่เรารู้ก่อนที่จะป้องกัน เรื่องที่มันอันตรายเลวร้าย หรือป้องกันไม่ให้ลูกต้องมีพฤติกรรมในเชิงที่เสี่ยง แต่ว่าในขณะเดียวกัน เราก็ควรรู้วิธีรับมือในสิ่งที่เป็นพัฒนาการของเขา ที่จะสร้างตัวตนขึ้นมาซึ่งสามารถที่จะเผลอไผลไปทางที่ไม่ดี ไม่น่ารัก มีวิธีรับมือเพื่อที่จะตบเข้าที่เข้าทาง ไม่ให้เขาต้องพัฒนาไปในทางที่ไหลลงต่ำ ที่เข้าไปสู่วงจรที่ไม่ดี ให้เขาสามารถเติบโตเป็นคนที่ดี สุขภาพจิตดีแล้วก็สามารถเป็นตัวเองได้อย่างที่เขาต้องการแล้วก็ประสบความสําเร็จ

4. โกหกเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ต้องทํา หรือการบอกไม่หมด เช่น ก่อนทานอาหารคุณพ่อคุณแม่ถามว่า “หนูล้างมือฟอกสบู่หรือยังนะ” ลูกก็ตอบว่า “ล้างแล้วครับ” คือจริงๆ ล้างแล้วแต่ล้างแบบเร็วมาก หนึ่งวินาทีเสร็จ หรือตอนไปเที่ยวรถไฟ ลูกไปนั่งอยู่กับเพื่อนๆ พอกลับมา แม่ถามเขาว่า “เมื่อกี้ไปกินอะไรกับเพื่อนมาคะ?” เขาก็ตอบว่า “ไปกินข้าว กินเฟรนช์ฟรายส์มา” เขาก็เล่าแต่อาหารแต่ว่าไม่บอกเลยค่ะว่า กินขนมไปเยอะแยะเลย อันนี้เป็นแนวบอกไม่หมดจะว่าโกหกก็ไม่เชิง แต่บอกไม่หมดค่ะ ส่วนเด็กโตอาจจะบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าวันนี้ไม่มีการบ้าน ทั้งๆที่จริงๆ มี


คุณหมอเสาวภาเลี้ยงลูกเชิงบวก
2


Please Login to CommentLog In

มิน มิน
ปักค่ะ เดี๋ยวกลับมาอ่าน
พะเพื่อน​ คุณแม่ลูก3
ขอบคุณมากค่ะคุณหมอ