ลูกดูดนมแบบไหน คือการเข้าเต้าที่ถูกต้อง?
ลูกดูดนมแบบไหน คือการเข้าเต้าที่ถูกต้อง ?
หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่าการดูดนมแม่ไม่เกี่ยวกับหัวนมแม่ แต่ว่าการดูดนมแม่ที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับลูก เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการดืมนมแม่ จึงต้องมีวิธีดูดนมที่ถูกต้อง
จากที่เห็นภาพข้างล่าง จะมีภาพ 1 และ 2 คุณแม่คิดว่า ภาพไหนเป็นการดูดนมแม่ที่ได้ประสิทธิภาพที่สุดคะ
วิธีดูดนมที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพที่สุด
1. ตำแหน่งจุดกระตุ้นการดูดนม
คือจุดตรงเพดานแข็งต่อกับเพดานอ่อน เป็นตำแหน่งที่ลูกจะรู้สึกดูดนมแม่ได้ดีพอเหมาะพอควร และง่ายต่อการดูด ดังนั้นถ้าไปไม่ถึงจุดนี้ ก็จะทำให้ไม่ไปกระตุ้นจุดที่เรียกว่า "จุดกระตุ้นการดูดนม" เด็กก็จะไม่ดูด เพราะฉะนั้นคุณแม่หลายคนจะเห็นว่าพอลูกดูดนมแม่แต่อยู่เฉยๆ ก็เพราะไปไม่ถึง "จุดกระตุ้นการดูดนม" นั้นเอง
2. ปากของลูกต้องอ้ากว้างๆ
กว้างที่สุดเท่าที่ลูกจะกว้างได้ ตามภาพที่ 1 จะเห็นว่าลานนมหายไปเลย แต่ภาพที่ 2 ยังมองเห็นลานนมอยู่
3. ปากข้างล่างจะต้องบานเหมือนปากปลา
ทั้งภาพที่ 1 และ 2 ปากข้างล่างจะบานเหมือนปากปลาเหมือนกัน แบบนี้คือถูกวิธี
4.คางลูกต้องชิดกับเต้านม
เพื่อที่ลูกจะได้ใช้ลิ้นส่วนล่างรีดน้ำนมออกมาได้ แต่คางที่ห่างแบบภาพที่ 2 ลิ้นจะเข้าไปรีดน้ำนมออกมาไม่ได้ เพราะตัวที่รีดต้องอยู่ตรงลานนม
สรุปคือวิธีการดูดนมแม่ที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพที่สุดคือ พยายามให้หัวนมแม่เข้าไปในปากลูกให้ลึก และใช้วิธีข้างต้นที่บอกไปก็จะทำไห้ลูกดูดนมแม่อย่างมีประสิทธิภาพและได้สารอาหารอย่างครบถ้วนค่ะ
นมไม่ออก หัวนมบอด บุ๋ม แบน ให้สามีดูด จะช่วยได้ไหม ?
มีคุณแม่หลายท่านแอบสงสัยว่าถ้าคุณแม่หัวนมบอด บุ๋ม แบน จะให้สามีช่วยได้ไหมคะอาจารย์อยากบอกว่า ดีมากเลยค่ะ เพราะหากว่าเราใช้อุปกรณ์ในการใช้ช่วยดึงเต้านม ส่วนมากจะเป็นอุปกรณ์ที่แข็ง แต่ปากคนนุ่ม การแก้ไขตรงนี้ คุณหมอไม่ได้แนะนํา แต่ก็มีแม่ ๆ แอบนำไปประยุกต์ใช้ที่บ้าน คือให้สามีช่วยดูดเพิ่ม ซึ่งก็ช่วยได้จริง มีประโยชน์มาก ท่อน้ำนมตัน บางที่ก็บอกว่า ต้องให้ลูกช่วยดูด ต้องใช้เครื่องปั๊มช่วย แต่การให้พ่อมาช่วยดูด ช่วยได้ค่ะ คุณพ่อเป็นผู้ใหญ่จะมีแรงดูดเยอะ จะช่วยแก้ไขปัญหาหัวนมบอด บุ๋ม แบน ได้ เห็นผลแน่นอนค่ะ
ขอถามคุณแม่หน่อยค่ะ คิดว่าขนาดของหน้าอกมีผลกับน้ำนมอยู่รึเปล่าคะ
จริงๆ แล้วน้ำนมแม่สร้างเตรียมไว้สำหรับลูกรักตั้งแต่สัปดาห์ที่ 16 ของการตั้งครรภ์ พร้อมๆ กับการขยายและแตกแขนงของท่อและต่อมน้ำนมภายในเต้านม คุณแม่จะสังเกตได้จากเต้านมที่ขยายขนาดขึ้นอย่างต่อเนื่องในตอนท้อง…
นั่นคือการเตรียมพร้อมของเต้านมและน้ำนม โดยเฉพาะหัวน้ำนม (ลักษณะสีเหลือง ข้นๆ มีลักษณะเหนียวเป็นพิเศษ แต่อุดมไปด้วยภูมิคุ้มกันที่หาไม่ได้จากสิ่งอื่นและเหมาะสำหรับ ลูกคุณแม่อย่างเฉพาะเจาะจง) ซึ่งโครงสร้างและจำนวนของต่อมน้ำนมในการผลิตน้ำนมนั้นมีจำนวนใกล้เคียงกันในคุณแม่ทุกคน
ดังนั้นคุณแม่ที่มีขนาดของเต้านมเล็ก ก็อย่ากังวลไปค่ะ น้ำนมของคุณแม่จะเพียงพอสำหรับลูกคุณแม่แน่นอน
**ขนาดที่ต่างกันคือปริมาณไขมันเต้านมที่ต่างกันนั่นเองซึ่งไม่เกี่ยวกับการสร้างน้ำนม**
คุณแม่คิดว่าหลังคลอด ทารกจะมีน้ำหนักตัวลดลงไหมคะ
สำหรับทารก ตามปกติน้ำหนักของทารกอาจจะลดลงเรื่อยๆ ในระยะหลังคลอดใหม่ๆ ประมาณ 7 - 10% และขยับขึ้นไปเท่าน้ำหนักแรกเกิดในวันที่ 7 หลังคลอด (ทารกคลอดครบกำหนด)... จะเห็นได้ว่าจะสอดรับกันพอดีในปริมาณน้ำนมแม่ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น
กระเพาะอาหารของลูกไม่ได้ใหญ่เท่าผู้ใหญ่ อย่ากลัวกับปริมาณน้ำนมที่บีบปุดในช่วงแรกว่าจะไม่พอกับกระเพาะลูกรักของคุณ
อาจารย์ภา ผศ.ดร.พรนภา ตั้งสุขสันต์ ประธานศูนย์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสุขภาพเด็กปฐมวัย คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล