เทคนิคปั๊มน้ำนมแม่ให้เกลี้ยงเต้า
ถึงเวลาที่ต้องบอกต่อทริคดีๆ แล้วค่ะ จากที่ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เจ็บหน้าอก คัดเต้ามาก็เยอะ กว่าจะถึงบางอ้อ เพราะมัวแต่ปากหนัก สุดท้ายก็ได้พี่ป้าน้าอา เพื่อนพ้องที่เป็นคุณแม่และผ่านการปั๊มนมมาก่อน แนะนำเทคนิคในการปั๊มน้ำนมให้เกลี้ยงเต้า สารพัดวิธีการเลยละค่ะ อยากนำมาบอกต่อคุณแม่มือใหม่จะได้ไม่ต้องเสียเวลา และไม่ต้องเจ็บตัวค่ะ แถมยังมีน้ำนมในสต๊อกไว้ให้ลูกดื่มได้ทันกาลและในปริมาณเพียงพอด้วยค่ะ
คัดแล้วคัดอีก กรองจนเหลือกลเม็ดเด็ดในการปั๊มน้ำนมให้เกลี้ยงเต้า แถมยังช่วยกระตุ้นกระบวนการสร้างน้ำนมแม่ให้มากขึ้นด้วยค่ะ
1. ยิ่งเร็วยิ่งดี เริ่มปั๊มนมเร็วยิ่งได้น้ำนมเยอะ ควรปั๊มนมหลังคลอดภายใน 24 ชั่วโมง จะช่วยกระตุ้นกระบวนการสร้างน้ำนมแม่ได้เป็นอย่างดี แนะนำว่า 7-10 วันแรกหลังคลอด ให้ปั๊มน้ำนมได้ 750-800 มล. ต่อวัน และมากขึ้นเป็น 800-1,000 มล. ต่อวัน ถ้าจดบันทึกปริมาณน้ำนมที่ได้ในแต่ละวันได้ยิ่งดีค่ะ
2.ตรงต่อเวลา มีกำหนดเวลาในการปั๊มนมที่แน่นอน ตรงเวลาทุกๆ วัน จะช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมได้มากขึ้น และการปั๊มนมในแต่ละครั้งน้ำนมจะไหลดี ปั๊มน้ำนมได้เกลี้ยงเต้าค่ะ ร่างกายแม่จะผลิตน้ำนมออกมาน้อย หรือที่เรียกว่า น้ำนมหด ถ้าไม่มีการนำน้ำนมออกจากเต้าอย่างสม่ำเสมอ
3.ยิ่งถี่ยิ่งดี ไม่จำเป็นต้องปั๊มนมนาน ความถี่ในการปั๊มนมสำคัญกว่าระยะเวลาในการปั๊มนมแต่ละครั้ง เพราะการปั๊มนมบ่อยยิ่งกระตุ้นให้น้ำนมไหลได้ดี ระยะความถี่ที่เหมาะสม ในช่วงแรก คือ 8-10 ครั้งต่อวัน พอลูกเริ่มโตค่อยลดลงเหลือ 5-8 ครั้งต่อวันค่ะ เพราะช่วง 12 เดือนเป็นต้นไป ปริมาณน้ำนมที่ลูกต้องการจะเริ่มลดลงบ้าง อย่างไรก็ตามพยายามปั๊มให้น้ำนมเกลี้ยงเต้ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการปั๊มแต่ละครั้งนะคะ
4.ปั๊มทีละข้าง ไม่เกิน 15 นาที ควรปั๊มนมให้หมดเป็นข้างๆ ไป ใช้เวลาในการปั๊มนมข้างละประมาณ 10-15 นาที ซึ่งเท่าๆ กับระยะเวลาที่ลูกดูดนมแม่จนเกลี้ยงเต้า การปั๊มนมนานเพราะหวังจะได้น้ำนมในปริมาณที่มากนั้น เป็นการเข้าใจผิด เพราะในระยะเวลาการปั๊มนม 10-15 นาทีนั้น น้ำนมแม่อาจจะเกลี้ยงเต้าแล้ว การปั๊มนมนานเกินไปส่งผลให้เจ็บเต้านม จนอาจเกิดเส้นเลือดฝอยหรือหัวนมแตกได้
5.การเลือกเครื่องปั๊มนมก็สำคัญ ควรเลือกเครื่องปั๊มนมให้กระชับพอดีกับเต้านมแม่ และบริเวณส่วนครอบเต้าควรทำจากวัสดุที่อ่อนนุ่ม ป้องกันการกดทับเต้านม อ่านเพิ่มเติม ประโยชน์ของการมีเครื่องปั๊มนม
การปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้า ไม่ใช่การปั๊มรีดเอาน้ำนมจนหมดเต้าเอาจนหยดสุดท้ายแบบนมวัวนะคะ เพราะถึงอย่างไร น้ำนมก็ไม่มีวันหมดหรือเกลี้ยงเต้าจริงๆ ค่ะ (ในระหว่างให้นมลูก) แต่คำว่า “เกลี้ยงเต้า” คือการปั๊ม หรือดูด หรือระบายน้ำนมออกให้มากที่สุดแต่ยังคงมีเหลืออยู่ เพราะร่างกายของคุณแม่ยังคงผลิตน้ำนมอยู่ตลอด
หากแต่ข้อดีของการปั๊มนมน้ำให้เกลี้ยงเต้า คือ การระบายน้ำนมออกให้มากที่สุด เพื่อให้มีที่ว่างจำนวนมากในการรองรับน้ำนมใหม่ที่จะผลิตออกมา และการปั๊มน้ำนมเกลี้ยงเต้าก็เป็นการกระตุ้นให้เกิดการผลิตน้ำนมออกมามาก เช่นกันหากปั๊มน้ำนมออกมาได้น้อยร่างกายก็ผลิตน้ำนมใหม่ออกมาน้อย อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูก เช่นนี้แหละค่ะ คุณแม่ๆ จึงต้องปั๊มน้ำนมให้เกลี้ยงเต้าหรือให้ลูกดูดนมให้มากที่สุดในแต่ละครั้ง
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ปั๊มน้ำนมเกลี้ยงเต้าแล้ว ให้สังเกตจากอาการ เต้านมตึงจนเจ็บ ซึ่งเรียกอาการนี้ว่า เต้านมคัด หลังจากปั๊มนมแล้ว จะเริ่มมีอาการเจ็บน้อยลง เต้านมนิ่มขึ้น หรือเอามือบีบเต้านมมีน้ำนมพุ่งออกมาไม่กี่หยด นั้นละค่ะ คุณแม่ได้พิชิตภารกิจปั๊มนมน้ำนมเกลี้ยงเต้าแล้ว
แนะนำบทความที่น่าอ่านต่อ:
แจกฟรี! ตารางความถี่ให้นมลูก ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 เดือน
7 สาเหตุของน้ำนมหมดพร้อมวิธีกู้คืน
เก็บรักษาน้ำนมแม่ให้คงคุณค่าเสมือนดื่มจากเต้า
#สต๊อกน้ำนม #ปั๊มนม #ปั๊มนมแม่ #นมแม่ #วิธีปั๊มนม #เครื่องปั๊มนม #อุปกรณ์ปั๊มนมแม่ #กระตุ้นนมแม่ #เลือกเครื่องปั๊มนม #ปั๊มนมเกลี้ยงเต้า #น้ำนม #เคล็ดลับการปั๊มนม